ค่าจ้างทนายความ
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายๆคนสงสัย บทความนี้จะเป็นการพูดรวมๆเกี่ยวกับค่าจ้างทนายไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือใช้บริการอื่นๆครับ ค่าจ้างทนายความในบทความนี้นั้นอ้างอิงจากสำนักงานเราเป็นหลักครับ สำนักงานหรือทนายท่านอื่นอาจมีหลักการคิดค่าจ้างทนายความในส่วนที่เป็นค่าวิชาชีพแตกต่างออกไปได้ บทความนี้นอกจากจะเขียนถึงการคิดว่าจ้างทนายความเบื้องต้นแล้ว เรายังจะเขียนถึงคำถามในใจของหลายๆท่านเกี่ยวกับการว่าจ้างทนายด้วยครับ หากเวลาน้อยสามารถข้ามลงไปด้านล่างได้เลยครับ
จ้างทนายให้ว่าความฟรีมีหรือไม่?
ก่อนอื่นเรามาดูเหตุผลก่อนว่าทำไมค่าทนายความถึงไม่ฟรี แล้วขอฟรีหรือขอให้ไม่คิดค่าใช้จ่ายได้หรือเปล่า ต้องดูว่าฟรีในส่วนใหนครับ ถ้าค่าจ้างทนายความว่าความในศาลไม่สามารถทำให้ฟรีได้ครับ สภาทนายความไม่อนุญาตให้ทนายความโฆษณาว่าจะว่าความฟรีครับ ถามว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ จินตนาการดูว่า ถ้าเราต้องไปทำงานทุกวันและในแต่ละวันต้องทำงานอย่างหนัก ถึงสิ้นเดือนนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างครับ วิชาชีพทนายความก็เช่นกัน การจะขึ้นว่าความได้แต่ละครั้ง ต้องผ่านการหลายขั้นตอนครับ เตรียมคดีความก่อนเขียนฟ้อง หาทุกแง่มุมกฎหมายที่เป็นไปได้ที่ฝ่ายตรงข้ามจะยกมาสู้คดีรวมถึงรวบรวมค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ จากนั้นนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้นำมาเขียนคำฟ้อง คำร้อง หรือคำให้การ เสร็จแล้วทำสำนวนความแล้วจึงไปยื่นต่อศาลซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เวลาในการทำงานตั้งแต่ 3 ถึง 4 วันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ หรือถ้าคดียากๆหรือมีข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมากอาจต้องเตรียมหาหลักฐานเป็นเดือนๆก็มีครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คดีของลูกความที่ทนายความรับมามีจุดบกพร่องน้อยที่สุด นอกจากนี้การสู้คดีในศาลยังใช้เวลาหลายวันจนกว่าจะมีคำพิพากษา เหล่านี้ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น นี่แหละครับทำไมสภาทนายความถึงไม่ยอมให้ทนายความทำคดีให้ฟรีครับ เพราะมันเป็นวิชาชีพเฉพาะหากยอมให้ทำ ทนายท่านอื่นก็จะอยู่ไม่ได้ ทำให้ไม่มีใครอยากเป็นทนายความคอยช่วยเหลือประชาชนในการเรียกร้องความยุติธรรรมครับ ความเดือดร้อนนั้นจะตกกลับไปที่ประชาชน สุดท้ายก็จะทำให้สังคมไม่สงบสุขครับ ถึงอย่างไรก็ดี หากทุนทรัพย์มีจำกัดจริงๆสามารถตกลงค่าจ้างกับทนายเป็นกรณีไปครับ ค่าจ้างทนายก็มีส่วนคล้ายจ้างศิลปินวาดภาพครับ ขึ้นกับความพอใจของทั้งสองฝ่าย
แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถหาทนายว่าความฟรีไม่ได้ สามารถหาได้ครับ มีหลายหน่วยงานที่คอยอำนวยความสะดวก เช่นทนายความเพื่อช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความ หรือโดยคณะนิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหลายๆแห่งมักจะเปิดบริการให้กับประชาชนเช่นกันครับ หรือถ้าเป็นคดีอาญาหากเราเป็นจำเลยและไม่มีทนายความศาลท่านจะถามก่อนเสมอว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ถ้าจำเลยต้องการศาลท่านจะจัดหาทนายความให้โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับทนายความครับ หรือถ้าเป็นผู้เสียหายในทางอาญาสามารถให้รัฐดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมโดยการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจครับ ท่านก็จะทำเรื่องส่งอัยการฟ้องเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเรา
การขอคำปรึกษาฟรีทำอย่างไร?
ในส่วนให้คำปรึกษานั้นสภาทนายความไม่ได้ห้ามไว้ว่าจะต้องคิดค่าใช้จ่ายเสมอไป ดังนั้นสำนักงานทนายความหลายๆแห่งก็มีบริการให้คำปรึกษาเบื้องต้นฟรีบ้างครับ เพราะผู้ที่เรียนกฎหมายทุกคนนั้นต้องการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในส่วนนี้เราเคยเขียนบทความไว้แล้วว่าการขอคำปรึกษาฟรีมีที่ใดให้บริการบ้าง ในบทความเก่าๆของเราลองค้นดูครับ
ถ้าจะไม่จ้างทนายความแล้วเราสามารถว่าความขึ้นศาลด้วยตนเองได้หรือไม่?
ทำได้ครับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ปกติแล้วถ้าคดีไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ตั้งผู้จัดการมรดก คดีแรงงาน หรือเพื่อน ญาติกู้ยืมเงินแล้วไม่คืน เราสามารถหาอ่านหนังสือ google เขียนฟ้องได้ด้วยตนเองอยู่แล้วครับถ้าเราศึกษามากเพียงพอเพราะคดีดังกล่าวถ้าจ้างทนายอาจจะไม่คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้มาและบางคดีรัฐจัดให้มีหน่วยงานไว้ให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว เช่นคดีแรงงาน มีให้เลือกทั้งผู้ตรวจแรงงาน หรือถ้าจะไปศาลยังมีนิติกรบริการร่างฟ้องและให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องพึ่งพาทนายความอีก การขึ้นศาลเราก็ทำการเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลเพื่อให้ท่านใช้ในการตัดสินคดีครับ
แต่ถ้าเป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเช่นคดีที่เกี่ยวข้องกับสัญญา ละเมิด หรือถ้าเป็นคดีอาญา เราไม่แนะนำให้ขึ้นว่าความเองครับ เพราะผลลัพธ์ที่ได้หากเป็นผลร้ายความเสียหายนั้นค่อนข้างสูง ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อเราสู้คดีในศาลทนายความไม่ได้แต่เพียงหยิบยกข้อกฎหมายเฉพาะเรื่องที่พิพาทกันเท่านั้น แต่ทนายความจะพิจารณากฎหมายทั้งระบบ การสู้คดีจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นครับ
เราสามารถอ่านหนังสือหรือเรียนรู้เองเพื่อต่อสู้คดีได้หรือไม่ คำตอบคือ ส่วนหนึ่งทำได้ครับแต่ต้องแลกกับเวลา และอีกส่วนหนึ่งต้องได้รับการเรียนการสอนครับ เพราะกฎหมายประเภทที่เป็นกฎหมายเทคนิคและกฎหมายของนักกฎหมายจะมีเหตุผลของตัวเองในการออกกฎหมายนั้นๆซึ่งไม่อาจใช้ความรู้สึกนึกคิดทั่วไปในการทำความเข้าใจได้ครับ แต่หากทำใจยอมรับผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้และต้องการต่อสู้คดีเอง กฎหมายเปิดโอกาสให้ตัวความที่เป็นคู่พิพาทสามารถต่อสู้คดีในศาลเรียกร้องความยุติธรรมด้วยตนเองได้เสมอครับ
ค่าทนายความแพงไปหรือเปล่า?
การจ้างทนายความของเรานั้น เงินที่เราจ่ายไปเพื่อจ้างทนายความเราจ่ายเพราะอะไร แล้วเงินที่จ่ายไปจริงๆแล้วเราจ่ายให้กับอะไร?
เราจ่ายเพราะ “ความเชื่อใจ” เพราะเราเชื่อมั่นว่าทนายความท่านนั้นสามารถช่วยเหลือเราได้ หรือช่วยให้ผลออกมาเป็นไปตามที่เราคาดหวัง กฎหมายเปรียบเสมือนเครื่องมือสำหรับใช้ในการรักษาความยุติธรรมในสังคม การปรับใช้ พลิกแพลง ขึ้นอยู่กับนักกฎหมายแต่ละท่าน ซึ่งในแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ทั้งการเรียนรู้ ความเข้าใจ รวมถึงประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ทนายแต่ละท่านมีแนวความคิดในการแก้ปัญหาและความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แต่ละคดีที่แตกต่างกัน ถ้าเราเคยปรึกษาคดีกับทนายความหลายท่าน เราจะพบเสมอว่าคำแนะนำของทนายแต่ละท่านในการต่อสู้คดีมักจะไม่เหมือนกัน แต่ทุกท่านก็ทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกความให้สูงที่สุดเหมือนกันครับ ค่าจ้างทนายความจะแพงหรือถูกนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกความครับ หากลูกความมองแล้วว่าสูงเกินไปเราอาจต่อรองราคาหรือเปลี่ยนไปเลือกทนายที่คิดค่าทนายความที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่เราสามารถยอมรับได้ครับ และการเปลี่ยนทนายนั้นสามารถทำได้ทุกเมื่อครับ แต่ถ้าคดีอยู่ในชั้นศาลแล้วควรพิจารณาให้รอบคอบ ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียที่อาจจะตามมาทุกครั้งครับ
ดังที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วตอนต้น การจ้างทนายความนั้นจะคล้ายกับการจ้างศิลปินทำงานครับ อยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย ถูกแพงนั้นเป็นเพียงความรู้สึก ถ้าเราจ่ายสูงแล้วผลออกมาตามที่เราคาดหวังเราก็อาจจะบอกว่าถูก กลับกันถ้าเราจ่ายน้อยแต่ผลออกมาตรงกันข้ามกับที่เราคาดหวังเราก็อาจจะบอกแพงก็ได้ครับ หรือถ้าเราเชื่อ หรือมั่นใจในตัวของทนายท่านนั้นไม่ว่าจะเพราะชื่อเสียง หรือได้รับการแนะนำมา เราก็จะไม่มีความรู้สึกว่าเงินที่จ่ายไปนั้นถูกหรือแพงครับ สิ่งสำคัญคือก่อนเริ่มจ้างทนายความเราต้องสามารถประเมินให้ได้ก่อนว่าค่าจ้างทั้งหมดที่เราจะต้องเสียไปในการจ้างทนายทำงานครั้งนั้นๆ เป็นจำนวนประมาณเท่าไรครับ ตรงนี้สามารถสอบถามให้ทนายประเมินราคาค่าจ้างทนายได้ก่อนตกลงว่าจ้างครับ
ค่าทนายความเราอ้างอิงมาจากความซับซ้อนยุ่งยากในการต่อสู้คดีจะน้อยหรือมากก็ต้องดูเป็นแต่ละกรณีๆไปครับ คดีประเภทเดียวละเมิดขับรถชนเหมือนกัน แต่คดีหนึ่งเกิดในใจกลางเมืองย่านชุมชน อีกคดีเกิดขึ้นในเส้นทางต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงความยุ่งยากในการทำคดีย่อมแตกต่างกันค่าใช้จ่ายจึงแตกต่างกันไปด้วยครับเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยในหลายๆด้านประกอบ เปรียบเทียบ เวลาเราไปหาหมอ ค่าใช้จ่ายในการรักษาแผลมีดบาด กับการผ่าตัดสมองนั้นมีความแตกต่างกันครับ
ค่าจ้างทนายความเท่าไร คิดอย่างไร?
ในส่วนนี้เป็นหลักการเบื้องต้นนะครับ ซึ่งอาจแตกต่างกันไป สำนักงานเรามีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ตรงค่าจ้างว่าความนั้นเราไม่สามารถแสดงอัตราค่าจ้างว่าความได้เพราะสภาทนายความกำหนดห้ามไว้ครับผิดมรรยาททนายความ เราจึงเขียนให้เฉพาะหลักการคิดว่ามีแบบใดบ้างครับ
ก่อนพูดถึงค่าจ้างว่าความเราขอพูดถึงประเด็นปัญหาซึ่งเราพบบ่อยซักนิดหนึ่งก่อนครับ หลายต่อหลายครั้งที่ลูกความมาปรึกษาเรามักจะให้ใช้วิธีการทางอาญาบีบเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ อาจเพราะเข้าใจว่ากระบวนการทางแพ่งนั้นล่าช้าหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เรามักจะย้ำเสมอว่าหากไม่ผิดอาญาแล้วเราจะไม่ทำคดีอาญาให้เด็ดขาด เนื่องจากเราคำนึงถึงว่าจะเป็นผลร้ายต่อตัวความเองเสียเอง แม้ว่าตัวความจะมีประสบการณ์จากเพื่อน ญาติ เคยใช้แล้วได้ผลมาก่อนก็ตาม หลายต่อหลายครั้งที่เราเจอคู่ความฝ่ายตรงข้ามใช้วิธีการทางอาญาฟ้องมาเพื่อบีบเอาทางแพ่งให้ได้เงินทั้งๆที่ข้อเท็จจริงไม่ผิดอาญาแม้แต่น้อย ผลลัพธ์คือเราดำเนินคดีกลับไปอย่างเต็มรูปแบบทั้งแพ่งและอาญาทำให้ผลเสียตกแก่คู่ความอีกฝ่ายนั้นเองครับ ดังนั้นเราจึงขอย้ำว่าควรเลือกช่องทางกฎหมายให้ตรงกับลักษณะข้อเท็จจริงเสมอครับ
ค่าจ้างทนายความกรณีขอคำปรึกษา
หากเป็นทาง Line e-mail หรือทางโทรศัพท์ เรายินดีให้คำปรึกษาฟรีครับ แต่ถ้าต้องการปรึกษาทนายต่อหน้า ประกอบเอกสาร จะเริ่มตั้งแต่ 1,000 บาทเป็นต้นไปครับแล้วแต่กรณีโดยจะมีการตกลงกันทั้งสองฝ่ายก่อนเสมอครับ ตรงนี้ผู้อ่านอาจจะมีความรู้สึกว่าแพงให้นึกถึงเวลาเราไปหาหมอในสภานพยาบาลครับ เมื่อเราไปพบจิตแพทย์แม้เพียงไม่กี่นาทีเราก็ต้องจ่ายค่าวิชาชีพให้ท่านใช่ไหมครับ หรือแม้แต่การไปหาหมอดูทำนายทายทักเรายังจ่ายในสิงที่มองไม่เห็นและก่อนให้เขาเริ่มทำนายด้วยซ้ำ ดังนั้นแม้การขอคำปรึกษาฟรีจะมีได้แต่ต้องทำใจว่าบางครั้งขอลมก็ได้ลมครับ
ค่าจ้างทนายความกรณีว่าความในศาล
ค่าจ้างว่าความนั้นการคิดจะขึ้นอยู่กับทนายแต่ละท่านนะครับซึ่งจะมีตั้งแต่หลักพันขึ้นไปจนถึงหลักแสนครับ หรือบางที่จะคิดจากจำนวนทุนทรัพย์ในคดีที่พิพาทกันก็มีครับ ปกติแล้วจะประมาณ 10% ของทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีเช่นหากคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน 1 ล้านบาทค่าทนายก็จะ 1 แสนบาทเป็นต้นครับ ซึ่งราคาในส่วนนี้ต้องตกลงกับทนายให้ดีนะครับ เพราะส่วนใหญ่รวมถึงสำนักงานเราเป็นราคาเฉพาะดำเนินคดีในศาลชั้นต้นครับ หากมีการอุทธรณ์ ฎีกา หรือบังคับคดีจะคิดเพิ่มอีกต่างหากครับ
ค่าจ้างว่าความของสำนักงานเราไม่ได้คิดจากทุนทรัพย์แต่คิดจากความยากง่ายของคดีครับ เช่น ถ้าฟ้องเรื่องเช็ค เราจะดูว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอะไรบ้าง ไม่ได้ดูเช็คนั้นมูลค่าเท่าไร ดังนั้น ถ้าฟ้องเช็คมูลค่า หนึ่งแสน หรือ สิบล้านบาท เราจึงคิดราคาไม่แตกต่างกันหากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานครบถ้วนไม่ต่างกันครับ ปกติแล้วสำนักงานเราจะเสนอราคาออกมาให้ลูกความเลือกใน 2 รูปแบบดังนี้ครับ
1 เหมาเป็นก้อนเดียวทั้งคดี ซึ่งสามารถทยอยจ่ายทีละงวดโดยงวดแรกจ่ายก่อนเริ่มคดี งวดที่สองจ่ายก่อนสืบพยานนัดแรกและงวดสุดท้ายก่อนสืบพยานนัดสุดท้ายครับ แต่ละงวดจะจ่ายเท่าไรนั้นแล้วแต่ตกลงกันครับ หรือในแบบที่สอง
2 จ้างเป็นครั้งแบ่งเป็นสองส่วน โดยจ่ายเป็น ค่าเขียนคำคู่ความ เช่น คำร้อง คำฟ้อง คำให้การ จ่ายก่องเริ่มงานทั้งก้อน โดยค่าเขียนคำคู่ความนี้มักจะขึ้นกับความยากง่ายของแต่ละคดีเช่นกันครับ เมื่อยื่นคำคู่ความแล้วถือว่าเสร็จงานในส่วนแรก และส่วนที่สองเป็นค่าขึ้นศาลซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นศาลที่ใด ในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด โดยการคิดค่าบริการส่วนนี้จะคิดต่อการขึ้นศาลต่อครั้งแยกออกมาครับ หากเลือกแบบนี้เราจะต้องจ่ายไปเรื่อย ๆจนกว่าสืบพยานนัดสุดท้ายเสร็จครับ ซึ่งโดยทั่วไปเราสามารถประเมินได้คร่าวๆเท่านั้นว่าจะต้องขึ้นศาลกี่นัด ส่วนในการจะเลือกแบบใดอยู่ที่ตัวความครับว่าแบบใหนเหมาะสมกับตนเองมากที่สุดครับ
ค่าใช้จ่ายทั้งสองกรณี ไม่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าคัดถ่ายเอกสาร ค่าส่งคำคู่ความ ค่าฤชาธรรมเนียม หรือค่าธรรมเนียมอื่นในศาลครับ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ชำระที่ศาลครับซึ่งคิดตามที่ได้จ่ายจริง โดยที่ค่าฤชาธรรมเนียมศาล หากเป็นคดีแพ่งทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท จะอยู่ที่ 2% ของทุนทรัพย์ แต่ถ้าต่ำกว่า 300,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมศาลไม่เกิน 1,000 บาท ค่าส่งคำคู่ความจะขึ้นอยู่กับศาลนั้นๆสามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานศาลเขตนั้นๆครับ
หากมีการเดินทางและต้องพักแรมที่ต่างจังหวัดก็จะมีค่าเดินทางและค่าโรงแรมที่พักคิดแยกต่างหาก โดยหากเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี จะไม่มีค่าบริการในส่วนนี้ แต่หากเป็นจังหวัดอื่นนอกจากนี้คิดตามที่จ่ายจริง
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้สามารถเมล โทรศัพท์ หรือไลน์มาสอบถามได้ตลอดเวลา โดยในเมลควรแจ้งข้อเท็จจริงต่างๆประกอบโดยละเอียดเพื่อประเมินราคาด้วยครับ
ค่าจ้างทนายความกรณีเขียนคำฟ้องหรือคำแก้ อุทธรณ์ หรือฎีกา
ขึ้นกับความซับซ้อนของแต่ละคดีครับ โดยจะจ่ายเป็นก้อนเดียวก่อนเริ่มงานครับ เพราะในชั้นนี้ไม่มีการสืบพยานอีกต่อไป การสู้คดีจะเป็นการนำเอกสารหลักฐานสำนวนที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นเสนอศาล โดยปกติมักจะมีราคาหลักหมื่นเป็นต้นไปครับ
ค่าจ้างตรวจ หรือร่าง/เขียนสัญญา
ค้าจ้างทนายความมักจะเริ่มต้นที่ 5,000 บาทเป็นต้นไปขึ้นอยู่กับสัญญาว่าเป็นสัญญาอะไรครับ สัญญานี้เป็นส่วนที่สำคัญมากแต่มักจะไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญเท่าไรครับ เราเคยเขียนบทความให้โหลดสัญญาสำเร็จรูปฟรีไปแล้วในโพสเก่าๆครับ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังมองหาทนายความทุกท่านครับ
1 comment on “ค่าจ้างทนายความ จะเลือกทนายความอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องจ้างทนายว่าความในศาล?” Add yours →
Comments are closed. You can not add new comments.