การตั้งผู้จัดการมรดก
เมื่อบุคคลใดตาย ทรัพย์สินของบุคคลนั้นจะตกทอดสู่ทายาท ถ้าหากผู้ที่ถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมไว้ทรัพย์สินก็จะถูกแบ่งให้บุคคลตามที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม หากทรัพย์สินใดไม่ได้ระบุไว้ก็จะตกทอดสู่ทายาทที่เหลือโดยนำมาแบ่งให้กับทายาททุกคนผู้มีสิทธิรับมรดก อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพินัยกรรมการจัดการทรัพย์สินนั้นก็ต้องมีผู้ที่จะทำการแบ่งซึ่งหากทายาทไปจัดการโอนย้ายด้วยตนเอง หน่วยงานหรือสถาบันต่างๆมักจะไม่จัดการโอนทรัพย์สินเหล่านั้นให้ เนื่องจากว่าเขาก็ไม่แน่ใจว่าทายาทเหล่านั้นมีสิทธิในทรัพย์สินจริงๆหรือไม่ หากโอนไปแล้วทายาทผู้มีสิทธิตัวจริงมาเรียกร้องก็อาจจะเกิดปัญหายุ่งยากแก่ผู้ที่รักษาทรัพย์สินของผู้ตายเอาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เองหน่วยงานหรือสถาบันต่างๆมักให้ทายาทไปขอศาลตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน จากนั้นจึงให้ผู้ที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนำคำสั่งศาลพร้อมใบรับรองแสดงว่าคดีถึงที่สุดมาทำการโอนทรัพย์สินของผู้ตายไปแบ่งปันให้กับทายาททุกคนผู้มีสิทธิ
การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้นทางรัฐได้เห็นถึงความสำคัญ จึงได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถทำได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายโดยทายาทสามารถยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ด้วยตัวเองหรือขอให้อัยการทำเรื่องให้ก็ได้ ในที่นี้จะขอพูดถึงขั้นตอนการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกด้วยตนเองเท่านั้นเพื่อที่จะไม่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้อื่น
ผู้จัดการมรดกจะตั้งใครก็ได้แต่การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้นั้นจะต้องเป็น ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เท่านั้นครับ ในกรณีที่เป็นทายาท ทายาทจะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกด้วยนะครับ ทายาทที่ไม่มีสิทธิรับมรดกได้แก่ ทายาทลำดับหลัง ทายาทที่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก ทายาทที่สละมรดก หรือทายาทที่ถูกตัดไม่ให้รับมรดก ทายาทเหล่านี้ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนะครับ
ทายาทลำดับหลังคืออะไร?
ทายาทนั้นตามกฎหมายกำหนดลำดับไว้ 6 ลำดับด้วยกัน ดังนี้ครับ
1 ผู้สืบสันดาน
2 บิดามารดา
3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4 พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5 ปู่ ย่า ตา ยาย
6 ลุง ป้า น้า อา
ส่วนคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นจะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับใดขึ้นอยู่กับว่า ณ ขณะนั้นมีทายาทลำดับใดอยู่ครับ เช่น ถ้าในขณะนั้นมีทายาทลำดับผู้สืบสันดานอยู่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นทายาทลำดับเดียวกันกับผู้สืบสันดานครับ แต่คู่สมรสที่จะเป็นทายาทนั้นต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายด้วยนะครับถึงจะมีสิทธิ สรุปง่ายๆว่าคู่สมรสที่จดทะเบียนสามารถยื่นคำร้องตั้งผู้จัดการมรดกเสมอครับ
ส่วนทายาทลำดับหลังนั้นเช่น ถ้า ณ ขณะนั้นมีผู้สืบสันดานยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา จะไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกเพราะเป็นทายาทลำดับหลังนั่นเองครับ ในส่วนของบิดามารดาซึ่งแม้จะเขียนเป็นข้อ 2 ก็ตามถือว่าเป็นลำดับชั้นเดียวกับผู้สืบสันดานเสมอครับ
ขั้นตอนการยื่นมีดังต่อไปนี้
เราได้ถอดภาพประกอบออกไปนะครับ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าศาลอนุญาตให้เผยแพร่หรือไม่แต่ขั้นตอนต่างๆจะยังเหมือนเดิมครับ
1 เอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยทำเป็น ไฟล์ PDF ซึ่งขอเขียนอธิบายถึงการเขียนเอกสารในโพสหน้าเพราะกลัวเนื้อหาจะยาวเกิน แต่เราสามารถหาตัวอย่างได้ในอินเตอร์เน็ตครับ เอกสารที่ต้องเตรียมประกอบคำร้อง ได้แก่
1.1 แบบพิมพ์คำร้อง
1.2 แบบเอกสารท้ายคำร้อง เช่นใบมรณะบัตร ทะเบียนบ้านผู้ตาย เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย เช่นโฉนด ทะเบียนรถ
1.3 บัญชีพยาน
1.4 บัญชีทรัพย์สิน
1.5 บัญชีเครือญาติ
1.6 หนังสือให้ความยินยอมทายาท
แบบพิมพ์ศาลโหลดได้ที่นี่ ข้อความรายละเอียดของแต่ละเอกสารเราได้เขียนอธิบายพร้อมยกเป็นตัวอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว หาอ่านได้ใน บทความและข่าวสาร ของเรานะครับ
2 เข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม หรือคลิ๊กที่นี่ เพื่อเข้าสู่ระบบ e-filling กดไปที่ลงทะเบียน หรือหากเคยลงทะเบียนไว้แล้วคลิ๊กที่เข้าสู่ระบบ
3 หลังจากสมัครลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วคลิ๊กที่เข้าสู่ระบบ โดยระบบจะส่งรหัส OTP ไปยังมือถือที่ได้ลงทะเบียนไว้ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนครั้งแรก จำเป็นที่จะต้องไปยืนยันตนที่ศาลใกล้บ้านท่านเสียก่อน จากนั้นเรากลับมาดำเนินการต่อ โดยการคลิ๊กเลือกไปที่เมนูด้านบนตรงคำว่าโจทก์ แล้วเลือกยื่นคำร้องขอจัดการมรดก
4 จากนั้นจะมีข้อแนะนำและเงื่อนไขในการใช้งานอ่านให้ละเอียดและกดยอมรับเงื่อนไขครับ
5 หน้าต่อไป คือศาล/ประเภทคดี กรอกรายละเอียดต่างๆให้ครบทุกช่อง ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีต้องเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตายครับ
6 หลังจากนั้นกรอกรายละเอียดของผู้ร้องซึ่งผู้ร้องที่สามารถยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นครับ
7 ถัดมากรอกรายละเอียดของผู้ตาย
8 ถัดไปอัปโหลดเอกสารต่างๆที่เราได้เตรียมไว้ในตอนต้นครับ ตรงคำขอท้ายฟ้อง เขียนว่า ขอศาลได้โปรดทำการไต่สวนและมีคำสั่งแต่งตั้งให้นาย/นางสาว…เป็นผู้จัดการมรดกของนาย…ผู้วายชนม์เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปขอศาลได้โปรดอนุญาต ลงท้ายด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
9 จากนั้นลงวันและเวลานัดในการไต่สวนครับ เลือกวันที่เราสะดวกปกติจะห่างจากวันที่ยื่นประมาณ 30-45วันครับ
10 หลังจากเลือกวันนัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาตรวจสอบข้อมูลต่างๆก่อนชำระเงินค่าธรรมเนียม
11 ในหน้าชำระเงินเราสามารถติ๊กขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้อีกด้วย
12 และสุดท้ายผลของการยื่นคำขอ โดยเราทำการพิมพ์ใบยันยันการรับเอกสารและรับเงินเก็บไว้ จากนั้นวันรุ่งขึ้นเราก็กลับมาล็อกอินอีกครั้งเพื่อดูว่าศาลรับคำร้องของเราหรือไม่หากศาลรับคำร้องเราไว้พิจารณา เราก็เตรียมตัวไปศาลในวันนัดที่เราได้กำหนดไว้
เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนครับหวังว่าโพสนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ
ปัจจุบัน สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำคู่มือการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกอนนไลน์ผ่าน e-filling ไว้แล้วเป็นภาพสีพร้อมคำอธิบายประกอบตั้งแต่หน้า 83 เป็นต้นไปครับ สามารถโหลดเอกสารคู่มือและภาพประกอบได้ ที่นี่ ครับ
1 comment on “วิธีการยื่นคำร้องตั้งผู้จัดการมรดก ออนไลน์ฟรี” Add yours →
Comments are closed. You can not add new comments.