ผลภายหลังการหย่า

ผลของการหย่า

บทความนี้จะพูดถึงเรื่องของ การหย่าและผลของการหย่านั้นมีอะไรบ้าง

บทความนี้จะต่อจากบทความที่แล้วต่อเนื่องมาจากการหย่า ซึ่งนอกจากคู่สมรสจะสิ้นสุดความสัมพันธ์กันแล้วยังมีผลอื่นๆอีกที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจที่จะหย่าขาดจากกัน ดังนี้

การหย่าโดยความยินยอม

การหย่าโดยความยินยอมตกลงกันนั้น จะมีผลเป็นการหย่านับตั้งแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป ผลในทางทรัพย์สินนั้นจะจัดการแบ่งกันตามที่มีอยู่ ณ เวลาที่จดทะเบียนหย่า ไม่ใช่เวลาที่ตกลงทำหนังสือหย่ากัน เพราะ ณ เวลาที่ตกลงกันขณะนั้นยังเป็นคู่สมรสกันอยู่นั่นเอง ซึ่งการแบ่งทรัพย์สินนั้น ถ้าหากไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะแบ่งกันอย่างไร กฎหมายกำหนดให้แบ่งคนละส่วนเท่ากัน

ผลต่อบุตรภายหลังการหย่า

อำนาจปกครองบุตร

กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสสามารถทำการตกลงกัน โดยต้องทำเป็นหนังสือระบุว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดบ้าง แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้หรือตกลงกันไม่ได้ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด และแม้ว่าจะตกลงแล้วเป็นเช่นไรหรือศาลชี้ขาดแล้วเป็นเช่นไร ถ้าหากว่าต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลมีอำนาจที่จะเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจปกครองบุตรได้โดยคำนึงถึงความผาสุขและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงไปนี้สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่าคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้ ซึ่งการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นต้องขอศาลเท่านั้น แม้ว่าตอนแรกผู้ใช้อำนาจปกครองจะเกิดจากการตกลงกันไม่ได้เกิดจากการชี้ขาดโดยคำสั่งศาลก็ตาม แต่เมื่อได้จดทะเบียนแนบท้ายทะเบียนหย่าไปแล้วหากต่อมาอยากเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองก็ต้องขอศาลเปลี่ยนระหว่างกันเองโดยการตกลงไม่ได้เด็ดขาด

การอุปการะเลี้ยงดูบุตร

แม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่น มารดาจะเลี้ยงดูบุตรและใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม บิดา หรืออีกฝ่ายที่ไม่ได้ใช้อำนาจปกครองก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายให้สิทธิบุตรเรียกค่าอุปการะจากบิดามารดาได้อีกด้วย

สิทธิในติดต่อบุตร

สถานะการเป็นบิดามารดาไม่ได้ยุติลงพร้อมกับการหย่าขาดจากกัน ดังนั้น แม่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็สามารถติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ อีกฝ่ายจะกีดกันไม่ให้ติดต่อบุตรโดยไม่มีเหตุผลสมควรไม่ได้ และเนื่องจากสิทธิที่ติดต่อบุตรมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ญาติสนิทอื่น ก็ย่อมสามารถที่จะติดต่อหลานของตนได้เช่นกัน

ผลของการหย่าโดยคำพิพากษาศาล

การหย่าโดยคำพิพากษานั้นมีผลนับตั้งแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ถ้าคู่สมรสจะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกก็ต้องไปจดทะเบียนหย่า ซึ่งการไปจดทะเบียนหย่าตามคำพิพากษาศาล พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ไม่จำเป็นว่าคู่สมรสต้องไปด้วยตนเองได้ผู้เดียว ผู้มีส่วนได้เสียเพียงยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียนและขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ส่วนคำนำหน้านามสามารถเลือกได้ตามความสมัครใจ ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติคำนำหน้านาม พ.ศ. 2551

ผลในทางทรัพย์สิน

การแบ่งสินสมรสและการชำระหนี้นั้นจะแบ่งตามจำนวนที่มีอยู่จนถึงวันที่ฟ้องหย่า

ค่าทดแทน

การเรียกค่าทดแทนนั้นจะมีเฉพาะการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุบางเหตุเท่านั้น และมีกรณีเดียวที่บุคคลภายนอกต้องจ่ายค่าทดแทนด้วยอันได้แก่ ผู้ที่มีความสัมพันธ์ฉันประเวณีกับคู่สมรสหรือแสดงตัวว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวเท่านั้น

ค่าเลี้ยงชีพ

ถ้าเหตุแห่งการหย่านั้นเกิดจากความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่ตนได้ ซึ่งค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลจะกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ ซึ่งการจ่ายค่าเลี้ยงชีพนี้เป็นการจ่ายเพื่อลงโทษคู่สมรสที่เป็นฝ่ายผิด

และถ้าการหย่าขาดจากกันนั้นเป็นเพราะเหตุวิกลจริต หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่เป็นโรคติดต่อนั้น ซึ่งเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงชีพโดยคำนึงถึงหลักศีลธรรมนั่นเอง

ผลต่อบุตรภายหลังการหย่า

อำนาจปกครองบุตร

ศาลจะเป็นผู้ที่ชี้ขาด โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของบุตรเป็นสาระสำคัญโดยไม่ต้องยึดถึงผลแพ้ชนะคดี เพราะกฎหมายมองว่าแม้จะเป็นคู่สมรสที่บกพร่องแต่ก็อาจเป็นบิดามารดาที่ประเสริฐได้ การชี้ขาดศาลชี้ขาดได้แม้โจทก์ไม่ได้ขอมาโดยไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ และเช่นเดียวกับการหย่าโดยความยินยอมหากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลอาจเปลี่ยนตัวผู้ปกครองได้โดยนำคดีสู่ศาลเพื่อให้ศาลชี้ขาดได้ทั้งทำเป็นคำฟ้องหรือทำเป็นคำร้องขอ

การอุปการะเลี้ยงดูบุตร

กฎหมายกำหนดให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและเป็นจำนวนเงินเท่าไร แม่โจทก์ไม่ได้ขอมาศาลก็พิพากษาให้ได้โดยไม่เกินคำขอ และแม้ว่าบิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองก็ไม่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อีกด้วย ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นสามารถจะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นของอย่างอื่นก็ได้ และสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะสละหรือโอนต่อไปไม่ได้ และไม่อยู่ในอำนาจแห่งการบังคับคดี

สิทธิติดต่อบุตร

เป็นเช่นเดียวกับการหย่าโดยความยินยอม คือ แม่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็สามารถติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ อีกฝ่ายจะกีดกันไม่ให้ติดต่อบุตรโดยไม่มีเหตุผลสมควรไม่ได้ และเนื่องจากสิทธิที่ติดต่อบุตรมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ญาติสนิทอื่น ก็ย่อมสามารถที่จะติดต่อหลานของตนได้เช่นกัน

อ่านบทความอื่นๆของเรา

1 comment on “ผลของการหย่าAdd yours →

Comments are closed. You can not add new comments.