พินัยกรรม แบบของพินัยกรรมมีกี่ประเภท? เราสามารถทำพินัยกรรมเขียนเองได้หรือไม่?
เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของผู้ที่เสียชีวิตก็จะตกลงสู่ทายาท ตามหลักของกฎหมายลักษณะมรดก แต่ในบางครั้งเจ้าของมรดกหรือผู้ที่ตายต้องการที่จะกำหนดการจัดการและการแบ่งทรัพย์สินของตนหลังจากที่ตนตาย อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น กลัวว่าถ้าหากโอนทรัพย์สินของตนให้กับทายาทจนหมดแล้วทายาทตนจะไม่เลี้ยงดู หรือยังอยากที่จะจัดการทรัพย์สินของตนให้งอกเงยขึ้นมากกว่านี้ หรืออาจจะเป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีญาติอยู่ในประเทศไทยซึ่งกลัวว่าหากตนได้ตายไปทรัพย์สินจะตกเป็นของแผ่นดินไม่สามารถส่งให้ทายาทของตนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องหาวิธีที่จะมาจัดการทรัพย์สินของตนหลังจากที่ตายไปแล้วโดยการทำคำสั่งกำหนดการเผื่อตายนั่นเองว่าหลังจากฉันได้จากไปแล้วให้จะให้ทายาทจัดการทรัพย์สินของฉันนั้นอย่างไรบ้างและวีธีการดังกล่าวนั่นคือ การทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรมนั้นสามารถยกทรัพย์สินให้กับใครก็ได้ครับ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทายาท กรณีมีทรัพย์สินที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะแบ่งให้ใครในพินัยกรรม ทรัพย์สินนั้นจะแบ่งกันตามหลักมรดกตกทอดแก่ทายาทครับ กรณีไม่มีทายาทที่จะรับมรดกและไม่ได้กำหนดว่าจะยกทรัพย์สินนั้นให้ใคร ทรัพย์มรดกนั้นก็จะตกกลับสู่แผ่นดินครับก็คือเข้ารัฐนั่นเอง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยนั้นได้กำหนดลักษณะของพินัยกรรมไว้ด้วยกัน 5 แบบกับวิธีพิเศษ อีก 2 กรณี ดังนี้
1 พินัยกรรมแบบธรรมดา
2 พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
3 พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
4 พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5 พินัยกรรมแบบทำโดยวาจา
และวิธีการพิเศษอีก 2 กรณีได้แก่
1 พินัยกรรมสำหรับคนในบังคับไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และ
2 พินัยกรรมสำหรับบุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารในภาวะการรบหรือการสงคราม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นกฎหมายกำหนดแบบของการทำพินัยกรรมไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งคำว่าแบบของพินัยกรรมนี้เองทำให้หากทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดแล้ว พินัยกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าการทำผิดแบบขอพินัยกรรมในลักษณะใดด้วยครับ เช่น
หากผู้ทำพินัยกรรมนั้นยังมีอายุไม่ถึง 15 ปี พินัยกรรมก็จะตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ผลก็คือทรัพย์มรดกจะแบ่งปันตามหลักมรดกปกติเสมือนไม่ได้มีการทำพินัยกรรมเกิดขึ้นครับ หรือ
หากมีข้อกำหนดในพินัยกรรมยกทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมให้ผู้เป็นพยานในพินัยกรรม หรือคู่สมรสของพยานในพินัยกรรม ถ้าเป็นกรณีนี้จะมีผลทำให้เฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์สินให้พยานหรือคู่สมรสของพยานในพินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะครับ แต่ไม่ได้ทำให้พินัยกรรมทั้งฉบับเป็นโมฆะแต่อย่างใด ทรัพย์สินในส่วนข้อกำหนดที่เป็นโมฆะนั้นจะกลับสู่กองมรดกแบ่งปันให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามหลักมรดกปกติครับ หรือ
หากผู้ทำพินัยกรรมนั้นกำหนดให้ยกทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสให้แก่ผู้ใดถึงแม้ว่าคู่สมรสจะเซ็นต์ยินยอมไว้ด้วยในพินัยกรรมนั้นก็ตาม การกำหนดเช่นนี้ไม่ทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะครับ แต่สามารถบังคับได้แค่ทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ในส่วนที่เป็นสินสมรสยังคงเป็นของคู่สมรสครับ หรือ
พินัยกรรมที่ทำนั้นไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม หรือพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด กรณีเหล่านี้ก็จะทำให้พินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นใช้ไม่ได้และไม่มีผลเป็นพินัยกรรมครับ ทำให้ทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทหรือตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายมรดกปกติครับ
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากความไม่รู้ในการทำพินัยกรรมครับ จะเห็นได้ว่าการทำพินัยกรรมนั้นต้องกระทำโดยระมัดระวังเป็นอย่างมากทีเดียวครับ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าพินัยกรรมในแต่ละแบบนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างเพื่อที่จะทำให้พินัยกรรมที่เราต้องการทำนั้นไม่ตกเป็นโมฆะครับ
ต่อไปนี้เราก็จะมาพูดถึงลักษณะต่าง ๆ ของพินัยกรรมกันต่อว่าพินัยกรรมในแต่ละแบบมีลักษณะอย่างไรกันบ้างดีกว่าครับ โดยเริ่มจาก
แบบที่ 1 พินัยกรรมแบบธรรมดา
พินัยกรรมแบบนี้จะเป็นพินัยกรรมที่พิมพ์ขึ้นอาจจะเป็นแบบฟอร์มพินัยกรรมทำสำเร็จรูปมาแล้วก็ได้ กฎหมายกำหนดว่าจะมีผลเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์สำหรับพินัยกรรมแบบธรรมได้นั้น พินัยกรรมที่ทำนั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แค่
1 ต้องทำเป็นหนังสือหรือทำเป็นเอกสาร หลายคนอ่านแล้วคงสงสัยว่า พินัยกรรมที่ไม่ได้ทำเป็นเอกสารมันมีด้วยเหรอ ตอบมีครับ เป็นพินัยกรรมที่เรียกว่า พินัยแบบที่ทำโดยวาจา เพื่อไม่ให้งงไปกันใหญ่เอาเป็นว่าพินัยกรรมแบบธรรมดานี้ต้องทำเป็นเอกสารหรือหนังสือครับ จะเขียนเองทั้งฉบับหรือพิมพ์ก็ได้ไม่ว่ากันครับ จะพิมพ์เองหรือให้ผู้อื่นเขียนก็ไม่ผิด แต่อย่าจำไปปนกับพินัยกรรมลักษณะอื่นนะครับ ตอนนี้เรากำลังพูดถึงพินัยกรรมแบบธรรมดา สำหรับคำถามในใจที่ว่าพินัยกรรมนั้นจะทำโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่เช่นส่งเข้าเมลย์ พิมพ์ลงในคลาวน์ คำตอบคือไม่ได้ครับ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ห้ามไว้ครับว่าไม่สามารถทำเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ พินัยกรรมทุกชนิดต้องปรินท์ออกมาหรือเขียนลงกระดาษหรือทำเป็นเอกสารเท่านั้นครับ สิ่งที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีผลเป็นพินัยกรรมครับ
2 ต้องลง วันที่ เดือน ปี ขณะที่ทำพินัยกรรมนั้นด้วยนะครับ วัน เดือน ปี สำคัญอย่างไร? คำตอบคือเอาไว้ดูครับว่าพินัยกรรมฉบับไหนเป็นฉบับล่าสุด พินัยกรรมฉบับใหม่จะลบล้างพินัยกรรมฉบับเก่าครับ
3 ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานพร้อมกันอย่างน้อย 2 คน พยานสองคนนั้นต้องรู้เรื่องการทำพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมด้วยนะครับ ไม่ใช่มาแค่ลงลายมือชื่ออย่างเดียว และองค์ประกอบสำคัญสำหรับพินัยกรรมแบบธรรมดาในข้อสุดท้ายก็คือ
4 ต้องมีพยานสองคนต้องลงลายมือชื่อรับรองรายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นด้วย
ส่วนถ้าหากมีการแก้ไขหลังจากที่ทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว การแก้ไขพินัยกรรมก็ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบเช่นกันครับไม่เช่นนั้นจะไม่มีผลเป็นการแก้ไขพินัยกรรม
การแก้ไขพินัยกรรมแบบธรรมดา เช่น การขูดลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นก็ต้อง ทำเป็นหนังสือ ลงวันเดือนปีที่แก้ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคนและพยานสองคนก็ต้องลงลายมือชื่อรับรองเช่นกันครับเรียกว่า เขียนอย่างไรเวลาแก้ก็ทำอย่างนั้นนั่นแหละครับ แล้วขีดทับล่ะ การขีดทับมีผลเป็นการเพิกถอนข้อความในส่วนนั้นทันทีครับโดยไม่ต้องลงลายมือชื่ออะไรเลยดังนั้นจะขีดทับอะไรต้องระวังนะครับ เรามาต่อกันที่แบบต่อไปครับ
แบบที่ 2 พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
องค์ประกอบของพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้นมีดังนี้ครับ
1 แน่นอนครับต้องทำเป็นเอกสาร
2 การทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้นตามชื่อครับ คือต้องทำโดยการเขียนด้วยตนเองทั้งฉบับครับ เขียนหมายถึงเขียนด้วยลายมือครับ จะใช้มือเขียนหรือในกรณีที่มือไม่สามารถเขียนได้ จะใช้ร่างกายส่วนไหนเขียนได้หมดครับ แต่ควรคำนึงด้วยว่าถ้าเป็นคนปกติแล้วใช้ส่วนอื่นเขียนระวังว่าอาจจะถูกพิจารณาว่าวิกลจริตขณะทำพินัยกรรมซึ่งผลจะทำให้พินัยกรรมที่ทำนั้นเป็นโมฆะทั้งฉบับได้นะครับ
3 ลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมนั้นลงไปครับ
4 ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม ข้อควรระมัดระวังในส่วนนี้คือกฎหมายไม่ให้ใช้วิธีการใช้รอยพิมพ์นิ้วมือในการลงชื่อนะครับถ้าทำก็ไม่มีผลเป็นพินัยกรรมครับ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับต้องการลายมือเท่านั้นครับ เขียนเองทั้งฉบับได้การลงลายมือชื่อก็ควรเขียนเองครับ
สำหรับพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้ไม่ต้องใช้พยานสองคนรับรองครับ ดังนั้นแม้มีพยานสองคนรับรองแล้วพยานหรือคู่สมรสของพยานจะรับทรัพย์สินจากพินัยกรรมข้อกำหนดนั้นก็ไม่เป็นโมฆะครับ จะต่างจากพินัยกรรมแบบธรรมดาครับ หากพยานคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนได้รับทรัพย์สินจากพินัยกรรมนั้นด้วยข้อกำหนดที่ยกทรัพย์สินให้กับพยานทั้งสองคนนั้นจะเป็นโมฆะทันทีครับ นอกจากนี้ยังรวมถึงคู่สมรสของพยานทั้งสองคนก็ห้ามรับทรัพย์สินจากพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้นด้วยครับ
การขูด ลบ ตก เติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆในพินัยกรรมแบบเขียนเองนั้น หลักการเช่นเดิมครับ เขียนอย่างไรจะแก้ก็ต้องทำอย่างนั้นครับ นั่นคือ ทำเป็นหนังสือหรือเอกสาร เขียนด้วยลายมือ ลงวันเดือนปี และลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมครับ แบบต่อไป
แบบที่ 3 พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
วิธีนี้จำมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ข้อดีก็คือความน่าเชื่อถือจะสูงที่สุดครับแต่ก็ไม่ได้มากมายกว่าสองแบบแรกชนิดทิ้งห่างอะไรมากนะครับ องค์ประกอบของพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจะมีดังนี้
1 ต้องทำเป็นเอกสาร
2 ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน
3 นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ในพินัยกรรมและอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟังครับ
4 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานได้ฟังข้อความและเห็นว่ามีความถูกต้องตรงตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมที่ได้แจ้งไว้แล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
5 นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะลงลายมือชื่อและวันเดือนปี และจดลงไว้ด้วยว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 และประทับตรา
การแก้ไข ขูดลบ ตก เติม ผู้ทำพินัยกรรม พยานและนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตต้องได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย
ตรงนี้ขอเพิ่มเติมเอกสารที่ต้องนำติดตัวไปด้วยเวลาติดต่ออำเภอหรือเขตดังนี้นะครับ
1 ใบคำร้องขอทำพินัยกรรม แบบ พ.ก. 1 (ขอได้ที่อำเภอหรือเขต)
2 บัตรประจำตัวประชาชน
3 ใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนว่าไม่ได้เป็นคนวิกลจริต รายละเอียดติดต่ออำเภอหรือเขตนะครับ
4 สำเนาเอกสารอื่นๆที่เป็นการแสดงกรรมสิทธิ์หรือหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่นโฉนดที่ดิน
5 ค่าธรรมเนียมประมาณ 50-200 บาท
แบบที่ 4 พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
1 ทำเป็นเอกสาร
2 ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
3 ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้นและลงลายมือชื่อคาบตรงรอยผนึกนั้นด้วย
4 ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต พร้อมด้วยพยานอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เป็นผู้เขียนเองทั้งหมด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งชื่อและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
5 เมื่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวันเดือนปี ที่ทำพินัยกรรมจดไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่ง จากนั้นนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ผู้ทำพินัยกรรม และพยานต้องลงลายมือชื่อบนซองนั้นด้วย
การแก้ไข ขูด ลบ ตก เติม เปลี่ยนแปลงใดๆผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยเสมอครับ
ในส่วนของพินัยกรรมที่ได้ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองหรือพินัยกรรมแบบเอกสารลับนั้น นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะไม่สามารถเปิดเผยต่อบุคคลอื่นใดได้ในระหว่างผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่และผู้ทำพินัยกรรมสามารถขอให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใดๆ ก็ได้ครับ
แบบที่ 5 พินัยกรรมแบบทำโดยวาจา
วิธีการทำพินัยกรรมแบบนี้ต้องมีพฤติการณ์พิเศษเท่านั้นครับจึงจะทำได้ นั่นคือเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษเกิดขึ้นทำให้ไม่มีใครสามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้ เช่น ผู้ต้องการทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย ตกเครื่องบิน มีโรคระบาด หรืออยู่ในสงคราม ผู้ต้องการทำพินัยกรรมที่อยู่ในเหตุการณ์พิเศษสามารถที่จะทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ครับ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมที่ตนต้องการจะทำนั้นต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนที่อยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้นครับ พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยไม่ชักช้า( หากรอดไปได้ )และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น รวมถึงวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตทราบด้วยครับ จากนั้นนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตก็จะจดข้อความที่พยานแจ้งให้ทราบนั้น และพยานสองคนนั้นก็ต้องลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นด้วยครับ ตรงนี้พินัยกรรมจะสิ้นผลไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดได้นะครับ
ต่อไปเป็นพินัยกรรมที่มีลักษณะพิเศษครับ ได้แก่
1 พินัยกรรมสำหรับคนในบังคับไทยที่อยู่ในต่างประเทศ
หมายถึงคนไทยที่ต้องการทำพินัยกรรมเมื่อเขาอยู่ต่างประเทศสามารถทำพินัยกรรมตามแบบที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ ส่วนอำนาจและหน้าที่ที่ต้องการนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตในการทำพินัยกรรมในแบบนั้น ๆ จะเป็นหน้าที่ของบุคคลต่อไปนี้แทนครับ คือ พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย หรือ พนักงานใด ๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้นๆที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้ครับ
2 พินัยกรรมสำหรับบุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารในภาวะการรบหรือการ
เป็นสถานการณ์ที่หากในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือสงครามเท่านั้นครับ บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กล่าวมาข้างต้นได้ ผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตได้แก่นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจหน้าที่แทนครับ
นอกจากนี้ยังใช้กับกรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวกับราชการทหารจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการเพื่อประเทศที่กำลังรบหรือทำสงครามกันด้วยครับ
ในส่วนสุดท้ายนี้ สำหรับผู้ที่สนใจให้เราทำพินัยกรรมให้ สำนักงานเราคิดค่าทำพินัยกรรมเท่าไร?
ค่าบริการในการทำพินัยกรรมของเรานั้นจะเริ่มที่ 15,000 บาท เป็นต้นไปครับ เช่นเดียวกับการทำงานบริการทางกฎหมายของเราในด้านอื่น ๆ เราคิดราคาจากความยากง่ายของงาน ราคาจึงไม่ได้ขึ้นกับทุนทรัพย์ครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านครับ