การหมิ่นประมาทในทางแพ่ง และการจ้างทนายความคดีหมิ่นประมาท
เราได้พูดถึงการหมิ่นประมาทในทางอาญากันไปแล้ว ต่อไปเราจะมาพูดถึงการหมิ่นประมาทในทางแพ่งกันบ้าง มาตราที่เกี่ยวข้องมี 2 มาตราได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 423
“มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๔๒๓ ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
จะเห็นได้ว่าการหมิ่นประมาทในทางแพ่งนั้นอยู่ในเรื่องของละเมิด โดยที่การหมิ่นประมาทในทางแพ่งถ้าหากว่าเรื่องที่พูดเป็นความจริง เราจะปรับใช้มาตรา 420 ซึ่งเป็นเรื่องของการละเมิดที่เป็นบททั่วไปครับ เพราะถือเป็นการกระทำละเมิดอย่างหนึ่ง ถ้าหากเรื่องที่เป็นความจริงนั้นทำให้เราเสียหาย ก็จะทำให้เราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ทำละเมิดต่อเราได้นั่นเอง
แต่ถ้าเป็นการนำเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาใส่ความนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะอยู่ในมาตรา 423 ครับ ทำให้ถ้าเรื่องเท็จนั้นทำให้เราเสียหาย นอกจากที่เราจะสามารถเรียกค่าสินใหมทดแทนจากความเสียหายนั้นได้แล้วเรายังสามารถที่จะเรียกร้องให้ผู้ที่หมิ่นประมาทเราโดยใช้ข้อความอันเป็นความเท็จนั้นแก้ไขชื่อเสียงเราให้กลับคืนดีได้ด้วยครับ
จากครั้งที่แล้วที่เรากล่าวไว้ว่าในทางอาญาว่าเราจะไม่สามารถขอให้ศาลสั่งให้ผู้ที่หมิ่นประมาทเราแก้ข่าวหรือเผยแพร่เพื่อทำให้ชื่อเสียงเราคืนดีได้ ซึ่งจะทำได้เพียงขอศาลให้สั่งผู้ที่กระทำความผิดโฆษณาคำพิพากษาเพียงเท่านั้น แต่ในทางแพ่งนั้น สามารถขอให้ศาลสั่งได้ครับโดยถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 ครับ
“มาตรา ๔๔๗ บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหาย หรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้”
อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่เมื่อมีการหมิ่นประมาทกัน โดยเฉพาะการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ผู้เสียหายมักจะใช้วิธีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพร้อมทั้งเรียกร้องเป็นตัวเงินเพื่อให้ยอมความครับ ซึ่งก็เป็นช่องทางหนึ่งในการระงับข้อพิพาท แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของการเรียกร้องค่าเสียหายครับ การเรียกร้องนั้นต้องเป็นการเยียวยาหรือชดเชยให้กับความเสียหายไม่ใช่การหาประโยชน์จากการเป็นคดีความด้วยนะครับ
การจ้างทนายความคดีหมิ่นประมาท
คดีหมิ่นประมาทเราต้องจ้างทนายหรือไม่? ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดำเนินคดีอะไร อย่างไรครับ ขอแบ่งเป็นดังนี้ครับ
ดำเนินคดีเมื่อถูกหมิ่นประมาท
เราสามารถดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาครับ
การดำเนินคดีอาญาเราสามารถทำได้ 2 ช่องทางคือผู้เสียหายฟ้องเอง กับผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษหรือที่เรียกกันว่าแจ้งความกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจครับ
การดำเนินคดีทางแพ่งเราสามารถดำเนินคดีได้เพียงวิธีเดียวคือผู้เสียหายฟ้องแพ่งด้วยตนเองครับ
การดำเนินคดีจะมีวิธีการแบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้ครับ
1.1 การดำเนินคดีโดยใช้วิธีแจ้งความร้องทุกข์
กรณีนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทนายครับ เพียงแต่ผู้เสียหายเดินทางไปสถานีตำรวจแล้วก็แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและการกระทำนั้นเป็นการหมิ่นประมาทเราอย่างไรก็ว่าไปครับ เล่ารายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจฟังครับว่าข้อความตรงไหนที่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทเราบ้าง จากนั้นก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าขอให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยครับ แล้วท่านพนักงานสอบสวนก็จะค้นหาพยานหลักฐาน สืบหาข้อเท็จจริง สรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่เป็นการต่อไปครับ
ได้กล่าวไปแล้วว่าการดำเนินคดีอาญานั้น ถ้าผิดจริงผลสุดท้ายคือผู้กระทำความผิดเข้าคุกหรือเสียค่าปรับครับ ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการชดใช้เป็นตัวเงินแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้หากต้องการให้ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เราด้วย ผู้เสียหายก็จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญานั้นครับ โดยขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เราด้วยครับ เราอาจจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วยก็ได้ครับ ซึ่งตรงนี้จะทำเองหรือใช้ทนายก็แล้วแต่สะดวกครับ หรือถ้าหากไม่ขอร่วมไปกับคดีที่อัยการเป็นโจทก์ก็สามารถแยกมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเองต่างหากได้ด้วยครับ
1.2 การดำเนินคดีโดยการฟ้องคดีด้วยตนเอง
เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งวิธีนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ทนายความในการฟ้องร้องและสืบพยานครับ ค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูงกว่าวิธีแรกที่แทบจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆครับ วิธีฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยตนเองนี้ข้อเสียคือ
ในคดีแพ่งนั้นหากเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน ก็จะมีค่าฤชาธรรมเนียมศาลเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วยครับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การฟ้องคดีด้วยตนเองนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีแรกมาก
โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทเกิดขึ้นมักจะจบที่ชั้นพนักงานสอบสวน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเล็กน้อยและยอมความกันไปครับ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันจริงๆหรือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายเรียกร้องนั้นมากเกินสมควรจนไม่สามารถตกลงกันได้ ก็โอกาสที่จะต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลสูงครับ การฟ้องคดีเองส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากไปแจ้งความแล้วเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะทำคดีครับ ซึ่งก็อาจมีได้หลายสาเหตุครับ ลองหาอ่านบทความเก่าๆของเราดูครับ