เมื่อตำรวจไม่รับแจ้งความ
เป็นปัญหาที่ทั้งเคยเจอกับตัวเองตั้งแต่ก่อนเรียนกฎหมาย จนจบกฎหมายและทำงานเป็นทนายก็ยังเป็นเรื่องอันดับต้น ๆ ของคดีอาญาที่ลูกความมักโอดครวญให้ฟังเป็นประจำ บางครั้งก็มักจะถามว่าทำไมแจ้งความไปแล้วตำรวจไม่เห็นทำอะไรเลย เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น
การแจ้งความคืออะไร?
ก่อนอื่นเรามารู้จักความหมายของการแจ้งความในความเข้าใจเราก่อนว่าคืออะไร การแจ้งความคำนี้ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมายครับ แต่ตามความเข้าใจของคนทั่วไปในทางกฎหมายคือ “คำร้องทุกข์” เป็นการที่ผู้เสียหายได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และการกระทำความผิดนั้นได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ตัวผู้ที่กระทำความผิดนั้น โดยการกล่าวหาหรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่นี้ ผู้เสียหายที่เป็นผู้แจ้งมีเจตนาที่จะให้ผู้ที่กระทำความผิดได้รับโทษ ต่อไปขอเรียกรวมกันว่าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจครับ
ผลของการแจ้งความร้องทุกข์
เมื่อเราทำการแจ้งคำร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมีหน้าที่ทำการสืบสวนและสอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดกระทำความผิด กระทำความผิดโดยวิธีใด จากนั้นก็จะทำการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายในการนำตัวผู้กระทำความผิดนั้นมาลงโทษ ซึ่งเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำก็เท่ากับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อเราทำการร้องทุกข์อย่างถูกต้องต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนทุกกรณีและทุกครั้งครับ แต่ถ้าไม่มีการแจ้งความแล้วตำรวจก็อาจจะไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษก็ได้แต่เฉพาะกรณีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวครับ ในกรณีความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินตำรวจไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจก็สามารถสืบสวนสอบสวนคดีได้เองครับ เพราะการกระทำความผิดประเภทนี้เป็นการกระทำความเสียหายต่อสังคม และทำลายความสงบสุขของส่วนรวมซึ่งรัฐมีหน้าที่ที่ต้องปกปักษ์รักษา การกระทำความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินนั้นทำให้รัฐเป็นผู้เสียหาย รัฐจึงสามารถดำเนินคดีในความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินนั้นได้เอง
ตำรวจไม่รับแจ้งความได้หรือไม่?
มีความเป็นไปได้หลายกรณีด้วยกันที่ทำให้ตำรวจปฏิเสธหรือไม่รับแจ้งความครับ
กรณีแรกคือ เราไม่ใช่ผู้เสียหาย
ดังได้กล่าวไปเบื้องต้น ความผิดทางอาญามีสองประเภทคือ ความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน กับความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินนั้นรัฐเป็นผู้เสียหายรัฐจึงดำเนินการได้เองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องแจ้งความ ส่วนความผิดต่อส่วนตัว อันได้แก่ความผิดทั้งหลายที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งความผิดต่อส่วนตัวนี้จะมีอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่เรารู้ว่ามีการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดครับ แต่อย่างไรก็ดีการแจ้งความหรือร้องทุกข์นั้นเราไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ตัวผู้กระทำความผิด เราก็สามารถที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้ เพราะการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นหน้าที่ของตำรวจครับ
แต่ว่ากฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นความผิดต่อสวนตัว เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีการแจ้งความหรือร้องทุกข์โดยชอบเสียก่อน ซึ่งตามความหมายของคำร้องทุกข์ที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ที่สามารถแจ้งได้ต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น บุคคลอื่นหากไม่ใช่ผู้ที่เสียหายจากการกระทำความผิด กฎหมายไม่อนุญาตให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจครับ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ตำรวจ จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธหรือไม่รับคำร้องทุกข์ได้ครับ ดังนั้นก่อนไปแจ้งความควรเช็คก่อนว่าเราเป็นผู้เสียหายตัวจริงหรือไม่
ผู้เสียหาย คือใคร?
กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้เสียหาย หมายถึงบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นๆ นอกจากนี้ยังรวมถึง ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ของผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามรถที่อยู่ในความดูแลของตนที่เขาได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด และถ้าหากว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถที่จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เองได้ บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น ก็สามารถมาแจ้งความร้องทุกข์แทนได้ หรือในกรณีนิติบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลสามารถที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ครับ
ดังนั้นถ้าไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งได้แก่บุคคลดังกล่าวไปแล้วไปแจ้งความร้องทุกข์เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่สามารถรับคำร้องทุกข์ของเราได้ แต่บุคคลที่ไปแจ้งความนั้นสามารถทำการกล่าวโทษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ได้ เพราะถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องไปร้องทุกข์อีก
จำเป็นหรือไม่ที่ก่อนไปแจ้งความเราต้องรู้ก่อนว่าความผิดที่เราไปแจ้งนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรืออาญาแผ่นดิน โดยหลักการไม่จำเป็นครับเพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าเป็นอาญาแผ่นดินแม้ผู้มาแจ้งไม่ใช่ผู้เสียหายเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็จะให้เรานำตัวผู้เสียหายตัวจริงมาร้องทุกข์เสียก่อนจึงจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ครับ แต่ว่าในทางปฏิบัติควรหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการกระทำความผิดอาญาฐานใดครับและเราเป็นผู้เสียหายตัวจริงหรือไม่ครับ
กรณีที่สอง เราร้องทุกข์ไม่ถูกต้อง
ดังได้กล่าวไปแล้วในความหมายของการแจ้งความร้องทุกข์ว่าการร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีอาญานั้น ผู้ที่แจ้งต้องแจ้งโดยมีวัตถุประสงค์ให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษครับ หากไม่มีการระบุเจตนานี้ลงไป จะไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ครับ เมื่อไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวดังได้กล่าวไปแล้ว ตำรวจก็ไม่สามารถที่จะสืบสวนหรือสอบสวนเพื่อทำสำนวนส่งอัยการให้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้ครับ
ดังนั้นเมื่อเราไปแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ควรเช็คเสมอว่าข้อความที่เจ้าหน้าที่ลงไว้ให้เรานั้น มีข้อความที่แสดงถึงเจตนาว่าเราต้องการให้ตำรวจนำตัวผู้ที่กระทำความผิดมารับโทษหรือไม่ ถ้าไม่มีการระบุถึงเจตนานี้ การแจ้งความของเรานั้นจะเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันธรรมดา หากความผิดนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่เรารู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีจะขาดอายุความครับ
กรณีที่สาม ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดอาญาแต่เป็นความผิดทางแพ่งครับ
การดำเนินคดีอาญาจะกระทำได้ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น หากเป็นความเสียหายที่เกิดจากทางแพ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระความผิดทางแพ่งนั้นได้ครับ เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง แต่ในบางครั้งเป็นเรื่องที่แยกลำบากและมีหลายกรณีที่ขึ้นสู่ศาลครับ ว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือทางแพ่ง การจะดูว่าครบองค์ประกอบความผิดทางอาญาหรือไม่จะต้องอาศัยพยานหลักฐานมาพิสูจน์ กรณีที่เป็นคดีที่มีความซับซ้อนหรือไม่สามารถวิเคราะห์ได้โดยง่ายก็เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องค้นหาความจริงในเรื่องนี้ครับ แต่ต้องพึงระลึกไว้เสมอครับว่า การแกล้งฟ้องเพื่อให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญาทั้ง ๆที่เขาไม่ได้มีความผิดทางอาญา ผู้ที่แกล้งฟ้องนั้นมีความผิดอาญาครับ
เราจะทำอย่างไรได้บ้างหากเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความจริงๆ
การดำเนินคดีอาญา กฎหมายให้ประชาชนสามารถทำได้ 2 วิธีครับได้แก่ ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้สอบสวนแล้วทำสำนวนส่งอัยการเพื่อนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาล กับผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้เองโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งความร้องทุกข์ก่อนก็ได้ครับ ซึ่งวิธีแรกไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนวิธีหลังจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงต่ำแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณีครับ
สุดท้ายนี้หากแจ้งความแล้วเกิดปัญหาจริงๆลองดูที่นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ
ตำรวจไซเบอร์เปิดสายด่วน “1441” ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส-ขอความช่วยเหลือ หากคดีที่แจ้งความสถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธรแล้วไม่มีความคืบหน้า โทรสายด่วน 1441 ตำรวจไซเบอร์ สามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือ ตั้งแต่ 08.30 น. ถึง 16.30 น. วันจันทร์-วันศุกร์ หรือเข้าเฟซบุ๊ก “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อประสานพื้นที่ช่วยเร่งรัดได้อีกทางหนึ่ง