เชื่อว่าทุกคนจะต้องได้ยิน หรือสงสัยเกี่ยวกับการ จ้างออก, ถูกเลิกจ้าง, เลิกจ้างไม่ถูกต้อง, นายจ้าง ไม่จ่ายเงินเดือน, บริษัท เลิกจ้างพนักงาน, จ้างออกจากงาน, เลิกจ้างไม่เป็นธรรม, โดนไล่ออกจากงาน บทความนี้จะพูดถึงว่าหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไปนี้แล้ว ลูกจ้างมีช่องทางที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมได้อย่างไร
เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือโดนไล่ออก ลูกจ้างมีทางเลือกในการเรียกร้องสิทธิต่างๆของตนได้ 2 ทางซึ่งต้องเลือกทางใดทางหนึ่งจนเสร็จสิ้นกระบวนการก่อนเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้ ทางเลือกทั้งสองทางดังกล่าวได้แก่
1 ดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงาน
2 ยื่นคำฟ้องต่อต่อศาล
1 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงาน
หากลูกจ้างเลือกทางนี้ ลูกจ้างสามารถไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างทำงาน และเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการจ้าง และการเลิกจ้างให้พนักงานตรวจแรงงานฟัง หลังจากที่พนักงานตรวจแรงงานได้รับเรื่องไว้แล้ว เขาจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยสอบถามไปยังบริษัทนายจ้างของเรา และจะมีคำสั่งออกมาภายในระยะเวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่รับเรื่อง ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานไม่สามารถออกคำสั่งได้ภายใน 60 วัน พนักงานตรวจแรงงานสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด 60 วันแรก ดังนั้น ระยะเวลาอย่างช้าสุดในการใช้วิธีการสายนี้คือ 90 วัน
คำสั่งที่ออกมานั้นหากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฎว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนี้ให้แก่ลูกจ้างหรือหากลูกจ้างถึงแก่ความตายไปก่อนก็ต้องจ่ายให้ทายาทของลูกจ้างผู้ถึงแก่ความตายนั้น โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ่ายภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายจ้างทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง ซึ่งหากลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้นสามารถยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีลูกจ้างจะยื่นคำฟ้องคัดค้านไว้แต่อย่างใด แต่หากเป็นกณณีนายจ้าง การคัดค้านคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างต้องนำเงินมาวางต่อศาลตรามจำนวนที่จะต้องจ่ายตามคำสั่งนั้นจึงจะสามารถฟ้องคัดค้านคำสั่งพนักงนตรวจแรงงานได้ จึงทำให้หากนายจ้างคัดค้านคำสั่งลูกจ้างก็มีเงินเป็นหลักประกันไว้ที่ศาลว่าจะได้เงินตามคำสั่งหากศาลเห็นชอบด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั่นเอง
แต่ถ้าหากไม่มีผู้ใดคัดค้านคำสั่งและเมื่อพ้นระยะเวลาที่พนักงานตรวจแรงงานได้สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างภายในกำหนดแล้วไม่จ่ายคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้นเป็นที่สุด การบังคับคดีนั้นลูกจ้างต้องนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งและนำคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปบังคับคดีต่อไปซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานจะเป็นไปด้วยความรวดเร็วแต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าจะต้องมีคำสั่งภายในกี่วัน
2 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างยื่นคำฟ้องต่อต่อศาล
หากลูกจ้างเลือกวิธีการนี้ข้อดีคือเมื่อศาลพิพากษาแล้วสามารถนำคำพิพากษาหรือคำสั่งดำเนินการบังคับคดีได้โดยไม่ต้องนำมาฟ้องบังคับตามคำพิพากษาเหมือนวิธีแรก แต่ระยะเวลาในการพิจารณานั้น กฎหมายไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาไว้ว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีกี่วัน แต่กำหนดไว้ว่าต้องทำโดยเร็ว ซึ่งโดยปกติก็จะใช้เวลาพอๆกับวิธีแรก
การยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานนั้นทำไม่ยาก ปกติจะมีนิติกรประจำศาลคอยให้บริการเขียนคำฟ้องให้ โดยการฟ้องคดีแรงงานไม่มีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมใดๆในการฟ้องร้อง เพราะวิธีพิจารณาคดีแรงงานมีหลักการวินิจฉัยคดีโดยเฉพาะคือ สะดวก ประหยัด รวดเร็วและเที่ยงธรรม
หากศาลตัดสินแล้วลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจต่อคำตัดสิน วิธีการคัดค้านก็ต้องใช้วิธีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
วิธีการทั้งสองสายดังกล่าวมานั้นมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ข้อดีของวิธีแรกคือ หากพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแล้วนายจ้างคัดค้านนายจ้างต้องนำเงินเท่ากับจำนวนที่ตนคัดค้านไปวางที่ศาลก่อนถึงจะฟ้องคัดค้านคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้ การพิจารณาคดีของพนักงานตรวจแรงงานปกติ จะซักถามข้อเท็จจริงทีละฝ่ายลดการเผชิญหน้ากัน ทำให้การเจรจาต่อรอง จะทำได้โดยมีความกดดันน้อยกว่าเวลาเผชิญหน้ากันในศาล ข้อเสียคือการบังคับคดี หากนายจ้างไม่จ่ายเงินตามที่พนักงานตรวจแรงงานสั่ง ลูกจ้างยังต้องนำคดีมายื่นฟ้องเพื่อบังคับตามคำสั่งอยู่นั่นเอง
วิธีการที่สองมีข้อดีคือไม่ต้องฟ้องบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอีก หากเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลสามารถมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้อีก ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานไม่สามารถสั่งในส่วนนี้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานไว้ซึ่งจำนวนค่าชดเชยในส่วนนี้ศาลจะคำนึงถึงเงินค่าชดเชยและข้อเท็จจริงรวมถึงเงินที่ลูกจ้างได้รับจึงไม่แน่นอนว่าจะได้มากน้อยเพียงใด ข้อเสียคือระยะเวลาในการพิจารณาหากคดี ถ้าศาล ณ เวลานั้นเยอะ การพิจารณาอาจใช้เวลานานกว่าวิธีแรก การเจรจาหากนายจ้างจ้างทนายมาแล้วการต่อรองจะทำได้ค่อนข้างยากกว่าวิธีแรก
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านในการตัดสินใจเลือกว่าจะใช้เส้นทางใดในการเรียกร้องสิทธิของท่านนะครับ