อยากดำเนินคดีอาญา แจ้งความร้องทุกข์ ฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาล ใครสามารถดำเนินคดีอาญาได้บ้าง?

เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ใครบ้างนอกจากผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาหากผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง

อยากดำเนินคดีอาญา แจ้งความร้องทุกข์ ฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาล ใครสามารถดำเนินคดีอาญาได้บ้าง?

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าใครที่กฎหมายให้อำนาจในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้บ้าง ผู้ที่มีอำนาจดังกล่าวได้แก่ 1 พนักงานอัยการ 2 ผู้เสียหาย กฎหมายให้อำนาจกับบุคคลสองกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ถ้าในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง ต่อมาภายหลังยื่นฟ้องแล้วตายลง บุคคลที่มีสิทธิจะดำเนินคดีต่อไปได้ได้แก่ บุพการีตามกฎหมายและตามความเป็นจริง ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาตามกฎหมายครับ แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องแม้ว่าผู้เสียหายจะตายลงคดีก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยพนักงานอัยการครับ

การที่เราไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจนั้นจะเป็นการขอให้ภาครัฐดำเนินการแทนผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจเมื่อได้รับการแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายแล้วก็จะทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาความจริงทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อได้ความจริงแล้วก็จะทำการสรุปสำนวนพร้อมกับทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเท่านั้นแล้วส่งต่อไปที่อัยการครับ เมื่ออัยการได้รับสำนวนและความเห็นแล้วก็จะเป็นอำนาจของท่านอัยการในการสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องและนำคดีขึ้นสู่ศาลต่อไป จะเห็นได้ว่าพนักงานอัยการก็คือบุคคลกลุ่มที่ 1 ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

ในส่วนของบุคคลกลุ่มที่ 2 นั้นหากมองว่าการดำเนินการวิธีแรกมันนานไป หรือติดปัญหาหลายอย่าง แจ้งความแล้วคดีไม่คืบหน้า ตำรวจไม่รับแจ้งความ ไล่ไปหาหลักฐานเองบ้าง ทำให้ผู้เสียหายนั้นอยากฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง กฎหมายไทยเปิดโอกาสให้สามารถกระทำได้ครับ ผู้เสียหายสามารถตั้งทนายหรือไม่ตั้งก็แล้วแต่ ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดเองได้ครับ ในกรณีการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญาด้วยตนเองนั้นจะต้องไม่ใช่ความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายครับ ความผิดที่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายเช่น ความผิดตาม พรบ จราจรทางบกเป็นต้น

คดีอาญามีกี่ประเภท?

คดีอาญานั้นจะมี 2 ประเภทด้วยกันครับ ได้แก่

1 ความผิดต่อส่วนตัว เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้เสียหายสามารถตกลงเจรจาเพื่อยอมความกันได้ เมื่อยอมความกันแล้วคดีอาญาก็จะเป็นอันระงับไปและไม่สามารถนำมาฟ้องคดีอาญาได้ใหม่ครับ และ

2 ความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินครับ คือความผิดที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถตกลงยอมความกันได้ ทำให้แม้ว่าผู้เสียหายจะให้อภัยกับผู้กระทำความผิดแล้วคดีก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดครับ การตกลงยอมความกันจะเป็นเพียงแค่ใช้ประกอบการพิจารณาของศาลท่านในการลงโทษเท่านั้นครับ

การที่พนักงานอัยการทำการฟ้องคดีอาญา หากเป็นคดีความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานตำรวจครับ เป็นใครไปแจ้งความกับตำรวจก็ได้ เมื่อตำรวจได้รับทราบถึงการกระทำความผิดแล้วท่านก็มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้เองครับ จะแตกต่างจากกรณีความผิดต่อส่วนครับ เพราะความผิดต่อส่วนตัวนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่จะสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะดำเนินคดีต่อไปได้ครับ ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหายไปแจ้งความในความผิดต่อส่วนตัวและเกิดการฟ้องร้องคดีอาญาต่อศาลเกิดขึ้น จะถูกยกฟ้องทันทีครับเพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายเนื่องจากกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าในคดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น ห้ามไม่ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนถ้าผู้เสียหายจากการกระทำความผิดยังไม่ได้ร้องทุกข์ครับ ผลก็คือเมื่อไม่มีการสอบสวน กฎหมายไม่ให้อำนาจพนักงานอัยการยื่นฟ้องครับ

ในการที่ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองนั้นสามารถกระทำได้ทั้งความผิดต่อส่วนตัวและความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดินครับ จะทำไม่ได้เฉพาะความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายดังได้กล่าวไปแล้วครับ ซึ่งการดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง การรวบรวมพยานหลักฐานรวมถึงการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในศาลย่อมจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาครับ เช่นการจ้างทนาย ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินคดีอาญาครับ

เมื่อการเป็นผู้เสียหายมีส่วนสำคัญมากในการเริ่มคดี

แล้วถ้าผู้เสียหายมีคนเดียวแต่เกิดเหตุอะไรบางอย่างไม่สามารถทำเองได้ใครสามารถทำแทนผู้เสียหายได้บ้าง?

ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้เสียหายนั้นเป็นใครครับขอแบ่งเป็นดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5)

1 ถ้าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์(ในกฎหมายอาญาผู้เยาว์คืออายุไม่เกิน 18 ปีครับ)หรือผู้ไร้ความสามารถ บุคคลที่จะดำเนินคดีแทนได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลครับ

2 ผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้ บุคคลที่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้แก่ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา(ต้องสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยนะครับ) บุคคลเหล่านี้สามารถดำเนินการแทนผู้เสียหายได้ ซึ่งกรณีผู้สืบสันดานนั้นเฉพาะสายตรงลงไปเท่านั้นครับที่มีสิทธิ ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ ครับ เช่นเดียวกันกับผู้บุพการีก็ต้องสายตรงขึ้นไปได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครับ สามีภริยาต้องจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยครับ

3 ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหาย ผู้ที่ดำเนินคดีแทนได้แก่ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคลครับ

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ที่ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคบวิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถที่ไม่มีผู้อนุบาล หรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลนั้นไม่สามารถทำการดำเนินคดีแทนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด รวมทั้งอาจมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ แล้ว กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ญาติของผู้เยาว์หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถร้องขอต่อศาลให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีดำเนินคดีอาญาได้ครับ

บุคคลดังกล่าวเหล่านี้สามารถดำเนินการแทนผู้เสียหายได้โดยที่ไม่ต้องทำการมอบอำนาจครับ ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้สามารถที่จะทำการร้องทุกข์ เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถอนฟ้องคดีอาญา หรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา รวมทั้งสามารถยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวได้แทนผู้เสียหายกระทำการด้วยตนเองครับ

ถ้าผู้เสียหายตายแต่ไม่มี ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานและยังไม่ได้แต่งงานจะทำอย่างไรล่ะ?

ญาติสนิทมิตรสหายหรือบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติสามารถทำการกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินการได้ครับ แต่จะไปฟ้องร้องดำเนินคดีเองไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ครับ

กฎหมายที่เกียวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๒  ในประมวลกฎหมายนี้

(๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖

มาตรา ๔  ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๕ (๒) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา

มาตรา ๕  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(๒) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

(๓) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น

มาตรา ๖  ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้

เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน

ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี

มาตรา ๒๒  เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า

(๑) เมื่อจำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้

(๒) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย

มาตรา ๒๘  บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(๑) พนักงานอัยการ

(๒) ผู้เสียหาย

มาตรา ๒๙  เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้

ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้ว ผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้