Itthigorn & Partners

Itthigorn & Partners

Primary Menu

  • หน้าหลัก
  • บริการของเรา
  • ข่าวสารและบทความ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • English
  • ไทย
Search
หมิ่นประมาท

ความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ตอนที่ 2 การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา การดูหมิ่นซึ่งหน้า และการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

Posted on: 01/07/2021 Written by: admin Categorized in: กฎหมายอาญา
บทความนี้พูดถึงการหมิ่นประมาทโดยทางโฆษณา และการดูหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นประมาททาง facebook twitter line การที่จะเป็นความผิดในฐานนี้นั้นต้องพิจารณาถึงอะไรบ้าง อย่างไรถึงจะเป็นความผิด รวมถึงการดูหมิ่นในฐานความผิดอื่นๆด้วยครับ

การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา การหมิ่นประมาทผู้ตาย การดูหมิ่นซึ่งหน้า และการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

บทความที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นบททั่วไปแล้ว บทความนี้เราจะพูดถึงการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาว่ามีลักษณะอย่างไร ต้องกระทำผิดอย่างไรถึงจะเข้าฐานความผิดทางอาญาเรื่องนี้ได้นะครับ ก่อนอื่นเรามาดูหลักกฎหมายกันก่อน การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 328 ครับ

“มาตรา ๓๒๘  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

เนื่องจากองค์ประกอบของการหมิ่นประมาทเราได้พูดถึงกันไปแล้ว ดังนั้นเราจะข้ามไม่พูดถึงในบทความนี้อีกนะครับ ถ้าหากต้องการอ่านรายละเอียดในความผิดฐานหมิ่นประมาทเพิ่มเติมสามารถย้อนกลับไปดูในบทความเรื่อง การหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ของเราได้ครับ

จากตัวบทกฎหมายอาญา มาตรา 328 ข้างต้นมีข้อสังเกตนิดหนึ่งนะครับ ตัวบทจะใช้คำว่าการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาครับ ถ้าเป็นการดูหมิ่นตัวบทจะใช้คำว่าการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาครับ ความหมายอาจไม่แตกต่างกันแต่เป็นข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆครับ เป็นคำที่กฎหมายใช้ครับ

การโฆษณาในความผิดฐานนี้หมายความว่าอย่างไร?

ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของกฎหมายนั้นเราต้องทำความเข้าใจความหมายของคำในกฎหมายเสียก่อนว่ากฎหมายได้ตีความไว้ว่าอย่างไร เพราะบางครั้ง คำที่เราใช้อยู่ที่ไปกับคำทางกฎหมายจะมีความหมายแตกต่างกันทำให้บางครั้งการกระทำบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นความผิดอาญา แต่จริงๆแล้วกลับไม่เป็นความผิดทางอาญาครับ ฟ้องไปศาลโอกาสที่จะถูกยกฟ้องก็มีสูงครับ

การโฆษณา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นนั้นหมายถึง การเผยแพร่ไปสู่ประชาชนครับ ดังนั้นการกระทำที่เป็นการโฆษณาในสายตาของกฎหมายยกตัวอย่างเช่น การให้สัมภาษณ์ การเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณาดีๆนะครับว่าใครเข้าฐานอะไรบ้าง เช่น การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้ให้สัมภาษณ์เองจะผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ผู้ที่นำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์จะผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาครับ

นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์แล้วสื่ออย่างอื่นที่เป็นการลงโฆษณามีอะไรบ้าง?

เนื่องจากว่าหนังสือพิมพ์ในยุคสังคมออนไลน์นี้มีความนิยมลดน้อยถอยลงไปมาก สิ่งที่มาแทนที่ก็คือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันครับ ซึ่งก็มีมากมายหลากหลายที่ให้ผลคล้ายกับการลงพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ เช่น line, facebook, twitter, instragram หรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์อื่นๆ ทำให้การเขียนหรือพิมพ์ข้อความลงสู่สังคมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นแต่างๆก็มีโอกาสที่จะเป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้เช่นเดียวกับการพิมพ์ข้อความลงหนังสือพิมพ์นั่นเองครับ แต่จะผิดอย่างไรนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายเป็นกรณีไปครับ

ข้อความในแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) เป็นหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่?

การกระทำใดถึงเรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาททาง Line นั้น เราต้องพิจารณาว่าการพิมพ์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทลงที่ใดใน line ครับ ถ้าเป็นในส่วนของ timeline ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจเข้าถึงได้โดยการเปิดเป็นสาธารณะ ก็มีโอกาสเข้าฐานความผิดของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ครับ แต่ถ้าพิมพ์ข้อความส่งทาง ไลน์กลุ่ม กฎหมายมองว่าเป็นการแจ้งข่าวเฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มเท่านั้น ยังไม่ถึงกับว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณะชนครับ ทำให้การพิมพ์ข้อความลงไลน์กลุ่มจึงยังไม่เข้าในฐานความผิดของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ก็อาจเข้าฐานความผิดของการหมิ่นประมาทได้อยู่นะครับ

ข้อความในเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ Facebook, Twitter เป็นหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่?

อย่างไรถึงเรียกว่าโดนหมิ่นประมาททาง Facebook, twitter ต้องพิจารณาว่าเปิดเป็นสาธารณะหรือเปล่าเช่นกันครับ ถ้าหากเปิดเป็นสาธารณะหรือ public ซึ่งผู้อื่นสามารถที่จะส่งต่อข้อความนั้น share, retweet ให้ผู้อื่นอ่านได้ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ครับ และแม้ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาได้อยู่เช่นเดียวกับการส่งข้อความทางไลน์ครับ

ส่วนองค์ประกอบอื่นของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พิจารณาเช่นเดียวกับองค์ประกอบการหมิ่นประมาททั่วไปซึ่งเราได้เขียนเอาไว้แล้วในบทความก่อนหน้าครับ หัวข้อถัดไปของเรื่องการหมิ่นประมาทนั้น เราจะพูดถึงการหมิ่นประมาทผู้ที่ตายไปแล้วต่อครับ

การหมิ่นประมาทผู้ตาย

เป็นอีกหนึ่งฐานความผิดในหมวดของการหมิ่นประมาทครับ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 เรามาดูตัวบทกันก่อน ว่ากฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไรจึงเป็นความผิดฐานนี้ครับ

“มาตรา ๓๒๗  ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น”

สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองก็คือ ชื่อเสียงของผู้ตายที่กระทบต่อบุคคลในครอบครัวของผู้ตาย สำหรับคำว่าผู้ตายนั้นกฎหมายหมายรวมถึงบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญว่าเป็นผู้ตายด้วยเช่นกัน

บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร ตามที่ได้กำหนดไว้ในฐานนี้นั้น ต้องเป็น บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยครับ

องค์ประกอบอื่นก็เช่นเดียวกันกับองค์ประกอบของการหมิ่นประมาทบททั่วไปเช่นกันครับ

ก่อนที่เราจะพูดถึงบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ เราขอพูดถึงอีกฐานความผิดหนึ่งที่สำคัญซึ่งมักเชื่อมโยงกันกับความผิดฐานหมิ่นประมาทเสมอนั่นก็คือ การดูหมิ่นซึ่งหน้าและการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาครับ เพราะในบางครั้งเมื่อการกระทำความผิดนั้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นด้วยการโฆษณาได้ครับ

ถ้าหากการการกระทำนั้นไม่เป็นการหมิ่นประมาทอาจเข้า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ได้ครับ

“มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

การดูหมิ่นซึ่งหน้าและการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา

การดูหมิ่นซึ่งหน้าและการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 3 ในหมวดความผิดลหุโทษ มาตรา 393 ครับ ก่อนอื่นเรามาดูตัวบทกันก่อน

“มาตรา ๓๙๓ ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองในความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้นก็คือ ป้องกันเหตุร้ายที่อาจถึงตัวกันได้ในทันทีครับ การพิจารณาเราจึงต้องดูว่าการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นนั้น ผู้รับข้อความหรือผู้ถูกดูหมิ่นสามารถเข้าถึงตัวเราได้ในทันทีหรือเปล่า ทำให้การโทรศัพท์ถึงกัน ถ้าหากทั้งสองฝ่ายอยู่กันคนละที่ก็จะไม่เป็นความผิดฐานนี้ครับ ดังนั้นถ้าเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าให้นึกถึงการกระทำที่ต้องเป็นการกระทำต่อหน้าต่อตาครับ

การดูหมิ่นคืออะไร

การดูหมิ่น คือการกระทำ การเหยียดหยาม การสบประมาท การทำให้อับอาย ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำโดยทางกาย หรือวาจาก็ได้ และการกระทำนั้นเป็นการลดคุณค่าผู้ถูกดูหมิ่นลงโดยผู้ที่หมิ่น ดังนั้นจึงอาจเป็นคำด่า คำหยาบ สบประมาท เช่น ยกเท้า เปลือยกาย ให้ของลับ ก็เข้าได้ จะเห็นได้ว่ามีความหมายกว้างกว่าการหมิ่นประมาทมากครับ

การดูหมิ่นนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ดูหมิ่นต้องการลดคุณค่าของผู้ที่ถูกดูหมิ่นลง โดยอาจเป็นการกระทำซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณาก็ได้ ในการพิจารณานั้น เราต้องพิจารณาประกอบกับกริยาวาจาของถ้อยคำทั้งหมดด้วยเช่นกัน

เมื่อการดูหมิ่นเป็นการลดคุณค่าของผู้ที่ถูกดูหมิ่นลง ดังนั้นการดูหมิ่นจึงพิจารณาเฉพาะผู้รับรู้เท่านั้น โดยปกติคือผู้ที่ถูกดูหมิ่นนั่นเองว่าเขาทราบและเข้าใจข้อความที่เป็นการดูหมิ่นนั้นหรือไม่ ส่วนบุคคลที่ 3 จะรับรู้หรือไม่นั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ต่างกับความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ เพราะเราได้กล่าวไปแล้วในบทความเรื่องหมิ่นประมาทว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ผู้รับรู้คือบุคคลที่ 3 ได้ทราบและเข้าใจข้อความส่วนผู้ถูกหมิ่นประมาทจะรับรู้หรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ กลับกันกับความผิดฐานดูหมิ่นนั่นเองครับ

ซึ่งหน้า คืออะไร

ซึ่งหน้า หมายถึงการกระทำที่สามารถเข้าถึงตัวอีกฝ่ายหนึ่งได้ อาจมีการเข้าถึงตัวก่อเหตุร้ายได้ในทันทีทันใด การกระทำนั้นเราไม่ได้ถือเอาการเห็นหน้าเป็นสำคัญครับ อยู่คนละห้องมีฝากันแต่ได้ยินแล้วไปถึงตัวอีกฝ่ายได้ทันที หรือใช้เครื่องกระจายเสียง แม้ไม่เห็นหน้าแต่ก็เป็นซึ่งหน้าได้ครับ

ด้วยการโฆษณา คืออะไร

การโฆษณาในความผิดฐานนี้คือ การทำให้ทราบถึงผู้อื่น เป็นการทำให้แพร่หลายในลักษณะการป่าวร้องให้รู้กันหลายๆคนครับ ตัวอย่างเช่น ด่ากลางตลาด ถ้าการป่าวร้องนั้นเป็นการป่าวร้องต่อหน้าผู้ถูกดูหมิ่นด้วย การกระทำนั้นอาจจะเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า และการดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ได้ครับ

จะเห็นได้ว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท กับการดูหมิ่นนั้นต้องพิจารณาควบคู่กันไป อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การกล่าวโดยสุภาพไม่ดูถูกเหยียดหยามไม่เป็นการลดคุณค่าผู้ฟังลงแต่อาจเข้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ครับ

ความผิดดูหมิ่นในฐานอื่นๆมีอีกหรือเปล่า? มีดังนี้ครับ

ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

“มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดูหมิ่นศาล ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198

“มาตรา ๑๙๘  ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/4

“มาตรา ๓๖๖/๔ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดูหมิ่นสถาบัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

“มาตรา ๑๑๒  ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ดูหมิ่นประมุขของรัฐต่างประเทศ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 133

“มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านครับ การยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ และการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง และถ้าโดนหมิ่นประมาททาง line โดนหมิ่นประมาททาง facebook โดนหมิ่นประมาททาง twitter หรือถูกดำเนินคดี ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต้องแก้ปัญหาหรือมีวิธีการแก้ปัญหา หรือดำเนินคดี และทำอย่างไรได้บ้าง ขอเขียนในบทความหน้านะครับ

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Related

Tagged as: กฎหมายการฟ้องหมิ่นประมาท กฎหมายฟ้องหมิ่นประมาท กฎหมายหมิ่นประมาท มาตรา 328 การ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา การฟ้องกลับคดีหมิ่นประมาท การฟ้องหมิ่นประมาท การฟ้องหมิ่นประมาท facebook การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ขั้นตอนการฟ้องหมิ่นประมาท คดีฟ้องหมิ่นประมาท คดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คดีหมิ่นประมาทมีอายุความกี่ปี คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาหมิ่นประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ค่าจ้างทนายฟ้องหมิ่นประมาท ค่าทนายคดีหมิ่นประมาท ค่าทนายฟ้องหมิ่นประมาท ค่าใช้จ่ายในการฟ้องหมิ่นประมาท คำฟ้องหมิ่นประมาท จ้างทนายคดีหมิ่นประมาท จ้างทนายฟ้องหมิ่นประมาท จ้างทนายฟ้องหมิ่นประมาท ราคา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นโดยการโฆษณา ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ทนายคดีหมิ่นประมาท ทนายฟ้องหมิ่นประมาท ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ฟ้องคดีหมิ่นประมาท ฟ้องทําให้เสียชื่อเสียง ฟ้องหมิ่นประมาท ฟ้องหมิ่นประมาท facebook ฟ้องหมิ่นประมาท พรบ คอมพิวเตอร์ ฟ้องหมิ่นประมาท ราคา ฟ้องหมิ่นประมาทค่าใช้จ่าย ฟ้องหมิ่นประมาทคือ ฟ้องหมิ่นประมาททําให้เสียชื่อเสียง ฟ้องหมิ่นประมาทมาตรา ฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฟ้องแพ่งหมิ่นประมาท วิธีฟ้องหมิ่นประมาท หมิ่นประมาท 328 หมิ่นประมาท มาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา พรบ คอม หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณายอมความ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาอายุความ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโทษ หมิ่นประมาทเป็นคดีอะไร หมิ่นประมาทเรียกเงิน หมิ่นประมาทโฆษณา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พรบ คอม หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณายอมความได้หรือไม่ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอัตราโทษ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอายุความ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาโทษ หมิ่นประมาทโดยโฆษณา อายุความคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา อายุความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา อายุความหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แจ้งหมิ่นประมาท โดนข้อหาหมิ่นประมาท โดนคดีหมิ่นประมาท โดนฟ้องคดีหมิ่นประมาท โดนฟ้องหมิ่นประมาท โดนฟ้องหมิ่นประมาทไม่มีเงินจ่าย โดนหมิ่นประมาททาง facebook โดนแจ้งความหมิ่นประมาท โทษคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โทษหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โทษหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

แนะแนวเรื่อง

Previous post ตัวอย่างและคำอธิบาย การเขียนคำร้องตั้งผู้จัดการมรดก
Next post ความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ตอนที่ 3 บทยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษกับการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาท

Footer sidebar

  • หน้าหลัก
  • บริการของเรา
  • ข่าวสารและบทความ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • English
  • ไทย

หมวดหมู่

  • กฎหมายอาญา
  • กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • กฎหมายแรงงาน
  • ครอบครัว มรดก
  • ล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
  • สัญญา
  • อื่นๆ

ติดต่อเรา

อีเมลย์ : service@itthigorn.com

Line : Line Add   Facebook : Facebook Add

ที่ตั้งสำนักงาน : เลขที่ 25 อาคารอัลม่า ลิงค์ ชั้น 17 ซอยชิดลม ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. 10330

© 2022 Itthigorn & Partners | Using Auberge WordPress theme. | นโยบายความเป็นส่วนตัว | Back to top ↑