การบังคับคดีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? หลังชนะคดีแล้วต้องทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายบังคับคดี?

การบังคับคดี

การบังคับคดีเป็นขั้นตอนต่อมาหลังจากที่โจทก์หรือจำเลยชนะคดีและต้องการบังคับให้อีกฝ่ายที่แพ้คดีปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั่นเองครับ โดยที่ฝ่ายที่ชนะคดีอาจจะเป็นไปได้ทั้งโจทก์หรือจำเลย ซึ่งหากมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันเราจะเรียกผู้ที่ชนะคดีว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาครับ ฝ่ายที่แพ้คดีเราก็จะเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้อะไรก็ตามครับ

ทำไมต้องมีการบังคับคดี?

การบังคับคดีนั้นจะเป็นขั้นตอนต่อมาหลังจากที่โจทก์ชนะคดีและศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว การบังคับคดีจะเป็นการดำเนินการเพื่อที่จะให้เจ้าหนี้หรือโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เป็นการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามคำตัดสินของศาลนั่นเอง แต่การบังคับคดีจะกระทำในลักษณะใดนั้นจะขึ้นอยู่กับหนี้ที่ต้องชำระตามคำพิพากษานั้นว่าเป็นหนี้ในลักษณะใด เช่น ถ้าเป็นหนี้เงินการบังคับคดีจะเป็นการยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หากเป็นหนี้กระทำการก็จะเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วแต่กรณีไป

การบังคับคดีจะเริ่มได้เมื่อไร?

เมื่อมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วและถ้ามีการที่จะต้องบังคับคดีกับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยปกติจะมีช่วงระยะเวลาที่ให้จำเลยชำระหนี้ระยะหนึ่งก่อนซึ่งระยะเวลานี้จะถูกระบุไว้ในสิ่งที่เรียกว่า คำบังคับ โดยในคำบังคับนั้นจะระบุด้วยว่าให้จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นต้องชำระหนี้อย่างไรตามคำพิพากษา ซึ่งระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคำบังคับนั้นจะเริ่มนับหลังจากที่จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว นั่นคือหากวันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งจำเลยอยู่ในศาล ศาลท่านจะสั่งให้จำเลยชำระหนี้ภายในกี่วัน แต่ถ้าในวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเป็นที่จะต้องแจ้งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้กับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นก่อนโดยการขอศาลให้ส่งคำบังคับให้กับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้เขาทราบคำตัดสินของศาลและทำการชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด การทำการบังคับคดีนั้นจะเริ่มกระทำได้หลังจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยในคดีไม่กระทำการชำระหนี้ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในคำบังคับ ในระหว่างระยะเวลาตามคำบังคับนี้เจ้าหนี้จะยังไม่สามารถทำการบังคับคดีได้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาตามคำบังคับไปแล้ว ดังนั้นการบังคับคดีจะเริ่มได้เมื่อใดนั่นคือเริ่มได้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับไปแล้วนั่นเอง

ปกติแล้วถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ต้องมีการบังคับคดีกับจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมักจะออกคำบังคับทันที่ที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นครับ และจะถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับในวันนั้นแล้ว แต่ถ้าศาลไม่ได้ออกคำบังคับให้โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบก่อนครับว่าศาลได้ตัดสินว่าอย่างไรและมีคำบังคับว่าอย่างไรบ้างโดยการขอให้ศาลออกคำบังคับส่งไปให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยทราบด้วยนะครับเพราะหากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบคำบังคับเราจะไม่สามารถเริ่มกระทำการบังคับคดีได้เลยครับ

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องรอให้มีคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนจึงจะทำการบังคับคดีได้?

ไม่จำเป็นครับ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการบังคับคดีจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่สิ้นสุดระยะเวลาตามคำบังคับ คำบังคับนั้นจะมีได้เมื่อศาลตัดสินแล้วว่าจะให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือจำเลยชำระหนี้โจทก์อย่างไร การบังคับคดีจึงมีได้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินและแม้ว่าจำเลยจะอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตามแต่ถ้าไม่ขอทุเลาการบังคับคดีไว้ โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ยังสามารถที่จะบังคับคดีได้ครับ

การบังคับคดีมีกำหนดระยะเวลากี่ปี?

การบังคับคดีนั้นจะมีระยะเวลา 10 นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา ตรงนี้ให้ยึดว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันใดครับ โดยหากเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาให้เปิดไปดูด้านหลังสุดซึ่งปกติจะเป็นลายมือเขียนเอาไว้ว่าได้อ่านคำพิพากษาวันใด เริ่มนับจากวันนั้นครับไม่ได้ดูวันจากด้านหน้า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าการอ่านคำพิพากษาแม้จะเป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ตามผู้ที่อ่านคือศาลชั้นต้นที่ตัดสินคดีครับ ทำให้ในหน้าแรกจะเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งจากนั้นศาลสูงท่านก็จะใส่ซองส่งให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้อ่านให้โจทก์และจำเลยฟังว่าศาลสูงได้ตัดสินว่าอย่างไร ซึ่งวันที่ศาลชั้นต้นนัดมาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงท่านก็จะแกะซองและอ่านให้โจทก์และจำเลยฟัง จากนั้นก็จะเขียนไปในท้ายคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงนั้นว่าได้อ่านในวันใด การนับระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีนั้นจะเริ่มจากวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาด้วยเหตุนี้หากเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือฎีกาก็จึงต้องเปิดไปดูหน้าสุดท้ายของคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นครับว่าศาลชั้นต้นท่านได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงในวันใดนั่นเอง

การบังคับคดีต้องทำอย่างไรบ้าง? และคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีต้องทำอย่างไร?

หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามคำบังคับแล้วถ้าเป็นหนี้ที่ต้องดำเนินการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเช่น หนี้เงิน หรือ หนี้ที่ต้องมีการบังคับคดีโดยวิธีการยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อายัดสิทธิเรียกร้องหรือเงินในธนาคาร หรือขับไล่รื้อถอน เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเสียก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจะมีอำนาจกระทำได้ครับ ส่วนหนี้อื่นเช่นการทำนิติกรรมก็จะเป็นการใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาขึ้นอยู่กับคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นว่าจะสั่งให้จำเลยชำระหนี้ด้วยวิธีใดครับ เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีให้แล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นจึงจะทำการแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้กระทำการยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องหรือกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นการบังคับให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

การขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีนั้นต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลโดยรายละเอียดของคำร้องขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นจะสรุปเป็นเนื้อหาในคำร้องขอออกหมายบังคับคดีว่าในคำร้องนั้นต้องมีรายละเอียดดังนี้คือ

ข้อ ๑ เขียนบรรยายในคำร้องว่าศาลได้ตัดสินว่าอย่างไร

ข้อ ๒ ได้มีคำบังคับสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องทำอะไรภายในระยะเวลาเท่าไร และบัดนี้ในขณะยื่นคำร้องนั้นได้พ้นกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับนั้นแล้ว

ข้อ ๓ เจ้าหนี้มีความประสงค์จะบังคับคดีเพื่อหนี้ตามคำพิพากษาอย่างไร มีการชำระหนี้มาบ้างแล้วหรือไม่ ยังไม่ชำระเลยหรือชำระมาแล้วบางส่วนแต่ยังขาดเหลืออีกเท่าไร เจ้าหนี้ต้องการบังคังคดีอีกเท่าไร

ข้อ ๔ ระบุขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอย่างไร เช่น ด้วยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วนเป็นต้น

การเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบทำอย่างไร?

ในการบังคับคดีนั้นถ้าคำบังคับหรือหมายบังคับคดีมีความบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น หมายบังคับคดีที่ออกมาไม่เป็นไปตามคำพิพากษา ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เจ้าหนี้ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือแม้แต่ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีนั้นสามารถที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นให้เพิกถอนแก้ไขการบังคับคดีนั้นได้แต่ว่าการจะยื่นนั้นต้องกระทำก่อนการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงนะครับ การยื่นคำร้องนั้นสามารถยื่นได้แต่มีระยะเวลาจำกัดว่าต้องทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รู้หรือได้ทราบถึงการบังคับคดีที่ไม่ชอบนั้นด้วยครับ หากเลยกำหนดระยะเวลา 15 วันนี้แล้วจะไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบได้ อย่างไรก็ดีหากว่าศาลเห็นสมควรแม้จะเลยกำหนดระยะเวลา 15 วันแล้วก็ตามศาลท่านอาจจะสั่งให้แก้ไขได้อยู่นะครับ แต่มีข้อยกเว้นว่า ไม่ว่าจะทำภายในกำหนดเวลา 15 วันหรือศาลเห็นสมควรก็ตาม ถ้ามีการให้สัตยาบันหรือการกระทำที่เป็นการยอมรับการบังคับคดีที่ผิดระเบียบนั้นแล้วจะทำให้ไม่สามารถขอเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบได้อีกเลยครับ ควรระวังตรงจุดนี้ให้ดี เมื่อพบว่ามีการออกหมายบังคับคดีที่บกพร่อง ผิดพลาดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการแสดงว่ายอมรับการออกหมายบังคับคดีที่มีปัญหานั้นนะครับ

ในกรณีที่การบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่นเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินผิดแปลง หรือไม่ยอมยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไม่ชอบ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ที่ต้องเสียหายจากการบังคับคดีนั้นสามารถที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีซึ่งผิดระเบียบอันเกิดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เช่นกันครับ

อย่างไรก็ดีในกรณีที่คำร้องที่ยื่นมานั้นอาจจะเป็นการประวิงคดีให้ชักช้า ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้ผู้ที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอน หรือแก้ไขหมายบังคับคดีนั้นวางเงินหรือหาประกันมาวางต่อศาลได้ครับเพื่อจะได้เป็นการประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่จะเกิดความเสียหายจากการยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีนั้นครับ

ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับการบังคับคดี?

ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีมีดังนี้ครับ

(๑) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว โดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินประเภทละสองหมื่นบาท แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดให้ทรัพย์สินแต่ละประเภทดังกล่าวที่มีราคารวมกันเกินสองหมื่นบาทเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

(๒) สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพเท่าที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ราคารวมกันโดยประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีความจำเป็นในการเลี้ยงชีพก็อาจร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตใช้สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพในกิจการดังกล่าวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีราคารวมกันเกินกว่าจำนวนราคาที่กำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหรืออนุญาตได้เท่าที่จำเป็นภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

(๓) สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยหรือแทนอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

(๔) ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น หนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมาย หรือสมุดบัญชีต่าง ๆ

(๕) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

ในกรณีที่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีได้แก่

(๑) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจำนวนไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

(๒) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น

(๓) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (๒) ที่นายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

(๔) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (๓) เป็นจำนวนไม่เกินสามแสนบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

(๕) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร

บุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำอย่างไรถ้าหากทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นส่วนหนึ่ง?

บุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ถูกยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้อง เช่นเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน หรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นสามารถจะมาร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการบังคับคดีนั้นได้ครับ หรือในกรณีที่ทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นเป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรืออาจจะเป็นเจ้าของรวมในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้แยกการครอบครองเป็นส่วนสัดเรียบร้อยแล้ว หรือบุคคลที่อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน เช่นนี้บุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนเฉพาะที่เป็นส่วนของตนได้ครับ โดยการยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่ทำการพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนั้นครับ

เช่นกันครับหากเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียจากการที่บุคคลภายนอกยื่นขอกันส่วนหรือขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้นเห็นว่าการยื่นขอกันส่วนหรือขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า สามารถขอให้ศาลสั่งให้ผู้ที่ร้องนั้นวางเงินหรือหาประกันต่อศาลเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอกันส่วนหรือขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้นได้ครับ

ทำอย่างไรเมื่อถูกบังคับคดี?

สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือตั้งสติครับ ดูว่าหมายบังคับคดีนั้นเขียนว่าอะไร มีรายละเอียดและข้อกำหนดอะไรบ้าง กรณีที่ไม่เคยรู้ตัวว่าถูกฟ้องมาก่อนรีบไปที่ศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้นและเช็คคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอันดับแรกครับ แนะนำว่าควรรีบปรึกษาทนายเพราะจะมีกำหนดระยะเวลาในกรณีที่จะขอพิจารณาคดีใหม่อยู่ครับ ในการปรึกษาทนายนั้นควรไปคัดคำพิพากษาหรือคำสั่งรวมถึงคำฟ้องและคำเบิกความพยานทุกปากส่งให้ทนายเพื่อขอคำปรึกษาด้วยนะครับ หากนำหมายบังคับคดีมาให้เพียงอย่างเดียวจะให้คำปรึกษารวมถึงช่วยหาวิธีแก้ไขได้ไม่มากครับเพราะไม่รู้ถึงต้นสายปลายเหตุ

กรณีที่ต่อสู้คดีจนคดีถึงที่สุดแล้วตรงนี้ทำอะไรไม่ได้มากครับนอกจากหาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น ถ้ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของเราวิธีการที่จะทำได้คือเข้าไปสู้ราคาเพื่อทำการซื้อทอดตลาดกลับมาครับ ถ้ามีการขายทอดตลาดไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตรงนี้อาจจะยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดและทำการขายทอดตลาดใหม่เพื่อให้เราสามารถเข้าไปทำการแข่งสู่ราคาในการซื้อทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ครับ ต้องดูเป็นกรณีๆไป

สิ่งที่ไม่ควรทำหลังจากที่สู้คดีจนคดีถึงที่สุดแล้วก็คือยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินเราเพื่อจะหลีกเลี่ยงการบังคับคดีกับทรัพย์สินนั้นครับ ไม่ควรทำตั้งแต่เมื่อรู้ว่าเจ้าหนี้จะดำเนินการฟ้องร้องเราแล้วนะครับเพราะอาจจะสุ่งเสี่ยงต่อการกระทำความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ได้นะครับ

เป็นหนี้แล้วต้องใช้ครับถ้าเอาของของเขามาก็ควรคืนกลับไปให้เจ้าของครับ เราไม่ควรเรียกร้องความยุติธรรมด้วยการรังแกคนอื่นหมายถึงทั้งสองฝั่งเลยนะครับ