สิทธิต่างๆของลูกจ้าง

สิทธิต่างๆของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างในสถานการณ์ covid-19

บทความนี้เราจะพูดถึงว่าเมื่อลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายสัปดาห์ ลูกจ้างรายเดือน หรือพนักงานบริษัท เมื่อถูกเลิกจ้างหรือโดนนายจ้างไล่ออก บังคับให้เซ็นต์ใบลาออก นอกจากค่าชดเชย หรือค่าตกใจ แล้วลูกจ้างหรือพนักงานเหล่านั้น มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง

ในภาวะสถานการณ์โควิท-19 คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งบางสถานประกอบการก็ไม่อาจที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวทำให้ต้องมีการเลิกจ้างงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าหากตกลงร่วมมือกันได้ แบ่งรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายย่อมเป็นเรื่องที่ดี การจ้างแรงงานนั้น บุคคลที่เป็นนายจ้างมีอำนาจเหนือกว่าลูกจ้างในหลายๆด้าน รัฐจึงได้ออกกฎหมายมาเพื่อกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้าง โดยให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องทำตามเงื่อนไขต่าง ๆเพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายแรงงาน

จากสถานการณ์โควิท – 19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวหากเป็นเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ต้องหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนลงเป็นการชั่วคราว กฎหมายเปิดโอกาสให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานปกติที่ลูกจ้างได้รับก่อนหน้าที่นายจ้างจะหยุดกิจการ จ่ายจำนวนนี้ได้ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แต่ในการนี้นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าโดยทำเป็นหนังสือแจ้งก่อนวันเริ่มหยุดกิจไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ วิธีนี้อาจเป็นหนทางหนึ่งของสถานประกอบกิจการที่จะพยุงธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องเลิกจ้างหรือปิดตัวลง และหากเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ต้องหยุดกิจการ นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนนี้ แต่เงื่อนไขนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีด้วย เพราะโดยตัวโควิท-19 เองไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่ตัวมันทำให้เกิดเหตุสุดวิสัย ดังนั้นการอ้างต้องแสดงเหตุผลประกอบเสมอว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอย่างไร เช่น โควิท-19 ทำให้นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งระงับการประกอบกิจการชั่วคราว เป็นต้น เมื่อการจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนการที่นายจ้างต้องหยุดกิจการเพราะเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถชำระหนี้ด้วยการทำงานได้ นายจ้างจึงไม่ต้องชำระหนี้ด้วยการจ่ายค่าจ้างได้

การหยุดประกอบกิจการเป็นเวลานาน หรือ บริษัทไม่มีรายได้เป็นระยะเวลานาน แต่รายจ่ายในบริษัทยังคงดำเนินต่อไปเช่น ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน หรืออื่น ๆ กิจการที่มีเงินสำรองไม่มากอาจจำต้องปิดตัวลง หรือจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างพนักงานของตนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยทั่วไปนายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้แต่เฉพาะในกรณีตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น อันได้แก่ ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ ละทิ้งการงาน(คือการขาดงานเกินสมควรและไม่มีเหตุผลอันสมควรติดต่อกันเกินสามวันทำงานไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่) หรือลูกจ้างกระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ลูกจ้างทุจริตแก่หน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือ ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ คำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (ดูมาตรา 538 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119) ซึ่งหากไม่เข้ากรณีดังกล่าวมานี้แล้ว การเลิกจ้างลูกจ้างแม้จะเป็นเพราะเลิกกิจการ กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องทำซึ่งเป็นสิทธิของลูกจ้างที่สามารถจะเรียกร้องจากนายจ้างได้ ดังต่อไปนี้

สิทธิต่างๆของลูกจ้าง

1. ในกรณีการเลิกจ้างลูกจ้างในสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ในที่นี้รวมถึงสัญญาจ้างทดลองงานด้วย(Probation) กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือเพื่อให้เกิดความชัดเจน และบอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้เป็นผลในการเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป โดยที่นายจ้างอาจจะจ่ายเงินให้จนถึงระยะเวลาเลิกสัญญาแล้วให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีก็ได้(ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า)

2. ในกรณีที่เลิกจ้างลูกจ้างหลังจากที่ลูกจ้างได้ทำงานให้มาระยะหนึ่งแล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 กำหนดให้นาจจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังตาราง

ระยะเวลาการทำงานระยะเวลาขั้นต่ำในการนำมาคำนวณค่าชดเชย
1120 วัน – แต่ไม่เกิน 1 ปี30 วัน
2ตั้งแต่ 1 ปี – แต่ไม่เกิน 3 ปี90 วัน
3ตั้งแต่ 3 ปี – แต่ไม่เกิน 6 ปี180 วัน
4ตั้งแต่ 6 ปี – แต่ไม่เกิน 10 ปี240 วัน
5ตั้งแต่ 10 ปี – แต่ไม่เกิน 20 ปี300 วัน
6ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป400 วัน
ตารางค่าชดเชย

3. เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือ แม้แต่ลูกจ้างเป็นฝ่ายเลิกสัญญาหรือลาออกเอง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี(วันลาพักร้อน)ในปีที่เลิกจ้างด้วย ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ปีหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้อย่างน้อยปีละ 6 วันหากปีใหนไม่ได้หยุดสามารถทบไปหยุดปีถัดไปได้ และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างเหลืออยู่ด้วย เหลือวันหยุดพักร้อนที่ไม่ได้ใช้เท่าไรเปลี่ยนมาเป็นเงินได้เท่านั้น ข้อนี้แม้ลาออกเองก็เรียกได้

4. ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจนถึงบอกเลิกสัญญา
การไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวมา อาจมีทั้งโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้การที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างถึงในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และมีการกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษไว้ด้วยในบางกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย โดยจงใจและปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างสูงถึงร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

สถานการณ์ปัจจุบันสร้างความลำบากให้แก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง กฎหมายนั้นไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา ถ้าลูกจ้างไม่มีนายจ้างก็อาจจะไม่มีรายได้ในการดำรงค์ชีวิตต่อ ในเมื่อเราไม่สามารถรู้ว่าสถานการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใดการได้เงินเพียงก้อนเดียวดังที่กล่าวมา แม้ได้ครบถ้วนก็อาจจะไม่เพียงพอ และในทางกลับกันหากนายจ้างไม่มีลูกจ้าง กิจการก็จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เช่นกัน การแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจทำอะไรลงไป ควรหันมาเจรจาหาข้อตกลงกันก่อนดีที่สุด เพื่อทำให้สามารถดำเนินชีวิตและผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายครับ