การหมิ่นประมาท

ความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ตอนที่ 1 การหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

การหมิ่นประมาท

คดีหมิ่นประมาทนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในหลายๆคดียอดฮิตในยุคนี้ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา หมิ่นประมาทหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งก็เนื่องมาจากสังคมในปัจจุบันใช้สื่อสังคมออนไลน์กันแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การกระทำความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณาและการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยในหลายๆครั้งผู้เสียหายก็มักจะใช้ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทนี้ในการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจากผู้กระทำความผิดเป็นจำนวนที่สูงเกินสมควรบ้างในบางกรณี และเพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไปจึงขอแบ่งย่อยออกเป็นตอนๆนะครับ

ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าความผิดฐานนี้มุ่งคุ้มครองอะไรเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจครับ ความผิดในฐานนี้มุ่งคุ้มครอง เกียรติ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณค่าที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนครับ การลบหลู่ทำให้คุณค่าที่ยอมรับนับถือในตัวมนุษย์นั้นลดน้อยถอยลงไป แม้ว่ามนุษย์อาจจะมีความแตกต่างกันไปในสังคม แต่มนุษย์ทุกคนนั้นมีเกียรติเท่ากันครับ กฎหมายจึงได้เข้ามาคุ้มครองและคุ้มครองทุกคนเท่าเทียมกันครับ

การดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณานั้นจะมีทั้งความคล้ายกันและต่างกันกับความผิดฐานการหมิ่นประมาทหรือการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาครับทำให้บางครั้งเวลาเราไปแจ้งความเราก็แจ้งรวมกันไปเข้าฐานไหนให้ตำรวจไปเลือกใส่เอาเองว่างั้นซึ่งถ้าฟ้องผิดฐานมีโอกาสที่จะยกฟ้องสูงนะครับ ความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดที่สุดนอกจากอัตราโทษ ก็คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเป็นความผิดต่อส่วนตัวครับ ทำให้ความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายสามารถตกลงยอมความกันเพื่อให้คดีอาญาระงับได้โดยไม่ต้องนำคดีไปสู่ศาลครับ

ส่วนกรณีการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณานั้นเป็นอาญาแผ่นดินครับเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าจะไม่สามารถยอมความกันได้ก็ตามแต่ความผิดฐานดูหมิ่นนั้นจัดอยู่ในหมวดความผิดลหุโทษครับ ผลก็คือสามารถเปรียบเทียบปรับโดยผู้เสียหายยินยอมซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาครับ ทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันได้โดยไม่ต้องไปถึงศาลเช่นกันครับ

เมื่อทั้งสองฐานความผิดสามารถใช้วิธีตกลงกันเพื่อให้คดีอาญาสิ้นสุดได้ก่อนไปถึงศาล การตกลงกันบางครั้งจึงเป็นการขอขมาลาโทษ หรือผู้เสียหายเรียกเงินพอสมควรเพื่อให้ยอมถอนคดีจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาครับ

ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักความผิดฐานหมิ่นประมาทกันก่อน ซึ่งการหมิ่นประมาทนี้กฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ดังนี้ครับ

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากตัวบทจะเห็นได้ว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาทได้ ผู้กระทำต้องใส่ความต่อผู้อื่นครับ ผู้อื่นจะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ครับ ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นหากไม่ระบุผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงว่าเป็นใครก็ต้องให้ได้ความหมายว่ากล่าวถึงใครโดยเฉพาะซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถทราบได้โดยไม่ต้องสืบหาเพิ่มเติมว่าหมายถึงใครครับ ง่ายๆก็คืออ่านแล้วสามารถรู้ได้เลยนั่นแหละครับว่าหมายถึงใคร การใส่ความนี้จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สามนั้นได้ทราบและเข้าใจความหมายของการใส่ความนั้นด้วยครับ ถ้าเขาไม่เข้าใจเช่นพูดใส่ความให้ชาวต่างชาติฟังแล้วเขาฟังไม่ออกก็ยังไม่ถือว่ากระทำผิดสำเร็จนะครับ

นอกจากนี้การใส่ความนั้นต้องถึงขนาดทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังด้วยครับ โดยจะต้องพิจารณาถึงความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไปครับไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวของผู้ถูกใส่ความนะครับว่าข้อความที่เป็นการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ถ้าใช่จึงจะครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ

การใส่ความคืออะไร?

การใส่ความ คือการกล่าวอ้าง หรือทำให้แพร่หลาย โดยแสดงพฤติกรรมอันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นและการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงด้วยครับ การยืนยันข้อเท็จจริงพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือสิ่งที่ใส่ความนั้นสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การคาดคะเน เช่นนาย ก เป็นคนทุจริต ตัวอย่างที่ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเช่น หน้าหมา สัตว์ พวกนี้บุคคลที่สามไม่สามารถเป็นสิ่งเหล่านั้นได้จึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทครับ

ในส่วนขอข้อความนั้น ข้อความจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้กฎหมายไม่ได้สนใจครับเข้าหมดหากการยืนยันข้อเท็จจริงนั้นกระทบถึงเกียรติของผู้ถูกใส่ความให้ปรากฏต่อบุคคลที่สามด้วยครับ การแสดงออกที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอาจจะเป็นการกระทำโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร ท่าทางหรือโดยประการอื่นใดก็ได้ครับ ข้อสำคัญก็คือ อยู่ที่ว่าบุคคลอื่นที่รับข้อความนั้น เขาสามารถทราบความหมายของการใส่ความได้หรือไม่ส่วนเขาจะเชื่อหรือไม่ไม่สำคัญเช่นกันครับ การพิจารณาจึงต้องดูควบคู่กันไปกับการดูบริบทโดยรวมประกอบครับไม่ได้ดูเฉพาะเพียงแค่คำพูดอย่างเดียว

เรื่องที่มักจะใส่ความสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทได้แก่

1 การใส่ความเกี่ยวกับการประพฤติ เช่น การรับสินบน

2 การใส่ความเกี่ยวกับเรื่องประเวณี หรือความไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่เรื่องอันควรในทางเพศ เช่น เสี่ยบ้ากาม กระหรี่

3 การใส่ความเกี่ยวกับหน้าที่การงาน เช่น ทนายความท่านนี้ชอบล้มคดี

4 เป็นการพูดถึงความไม่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือสังคม เช่น ชอบออกเช็คเด้ง ซึ่งต้องดูองค์ประกอบอย่างอื่นประกอบด้วยนะครับ เช่น ถ้าบอกว่าเป็นหนี้แล้วไม่ใช้ การเป็นหนี้ไม่ทำให้บุคคลเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังครับเพราะการเป็นหนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่บุคคลอาจเป็นหนี้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่ผิดทุกกรณีไปนะครับ ยังคงต้องดูบริบทอื่นโดยรวมประกอบด้วย

ชื่อเสียง

ชื่อเสียง ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเดียวกับชื่อเสียงอย่างชื่อเสียงของศิลปินนะครับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความผิดฐานนี้กฎหมายมุ่งคุ้มครอง เกียรติ ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ดังนั้นชื่อเสียงในที่นี้หมายถึง คุณค่าหรือราคาที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในทางศีลธรรม ในทางจิตใจหรือในทางสังคมครับ ดังนั้นการจะดูว่ากระทบต่อชื่อเสียงหรือไม่ ต้องดูว่าการใส่ความนั้นเป็นการลดคุณค่าในตัวของผู้ถูกใส่ความลงหรือไม่นั่นเองครับ

เนื่องจากว่าการใส่ความเป็นการพิจารณาที่การกระทบต่อเกียรติซึ่งไม่เกี่ยวกับความจริงหรือไม่จริงของเรื่อง กฎหมายจึงไม่สนที่มาของคำพูดว่าจะมาจากไหนทำให้การฟังเขามาพูดต่อ ผู้พูดก็อาจผิดฐานหมิ่นประมาทได้ครับ เช่น บรรณาธิการลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทจึงมีความผิด เขาจะมาแก้ตัวว่ามีคนส่งมาให้ลงพิมพ์ไม่ได้ การฟังเขาเล่ามาว่าแล้วมาพูดต่ออีกทีจึงอาจทำให้ผู้พูดมีความผิดฐานนี้ได้เช่นกันครับ ตอนนี้อาจจะสงสัยว่าถ้าเรามีเจตนาดีต้องการเตือนผู้อื่นก็ผิดเหรอ ขอตอบว่ากฎหมายไม่สนใจเหตุจูงใจครับ แม้เจตนาดีก็ผิดได้แต่มีบทยกเว้นไว้ทำให้อาจไม่เป็นความผิดหรือได้รับยกเว้นโทษอยู่ครับต้องดูเป็นกรณีๆไปครับ
เพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไปเรื่องของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา การดูหมิ่นซึ่งหน้า การดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความทำคดี อายุความ ฟ้องคดีแพ่งคดีอาญา พรบ คอม หมิ่นประมาททางไลน์กลุ่ม เฟสบุ๊ค ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ